ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment เผยแนวโน้มราคาทองคำเดือนพฤษภาคม ทองลุ้นไปต่อ หาก Fed ส่งสัญญาณใกล้จบการขึ้นดอกเบี้ยและแบงค์สหรัฐยังอยู่ในภาวะเสี่ยงล้ม
นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวถึงสรุปสถานการณ์ราคาทองในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือนที่ระดับ 2,048 usd/oz ขณะที่ราคาทองในประเทศพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ ราคาทองคำแท่ง 96.5% ขายออกสูงสุดถึงบาทละ 32,850 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกสูงสุดบาทละ 33,350 บาท อ้างอิงราคาจากสมาคมค้าทองคำ โดยได้รับแรงหนุนจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed Minutes) ระบุว่า วิกฤตแบงก์ล่มและความวุ่นวายอื่น ๆ ในภาคการเงิน ซึ่งเริ่มขึ้นในต้นเดือนมีนาคม เป็นเหตุฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้และแรงหนุนจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ 5% ซึ่งลดลงเร็วกว่าที่คาดและต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ซึ่งนักลงทุนเริ่มคาดการณ์กันว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงว่า Fed อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในเดือนหน้าก่อนจะหยุดพัก ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนั้น เริ่มมีสัญญาณลดลง จำนวนการขอสวัสดิการการว่างงานสูงขึ้นมากด้วยและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งประเด็นสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เกิดความตึงเครียดขึ้น ภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองพุ่งขึ้นแรงในเดือนเมษายน
“สำหรับแนวโน้มราคาทองคำเดือนพฤษภาคมนี้ หากดูจากสถิติราคาทองคำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในเดือนพฤษภาคม ราคาทองคำปรับลง 5 ครั้งและปรับขึ้น 5 ครั้ง ซึ่งการลงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.94% ส่วนการขึ้นเฉลี่ยที่ 2.48% และในเดือนนี้มีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนสูงอีกด้วย สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ มี 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ด้านฝั่งสหรัฐ ในประเด็นแรกที่ต้องติดตามช่วงวันที่ 4 พฤษภาคมนี้จะมีกำหนดการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าการประชุมเฟดรอบนี้ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 นับตั้งแต่วัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มีนาคม 2022 ทำให้คาดการณ์ว่าช่วงก่อนการประชุมถึงช่วงประชุมดอลลาร์อาจแข็งค่าและกดดันราคาทองคำ หลังจากนั้นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดว่าจะโฟกัสว่าทาง Fed จะมีทิศทางอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปี หาก Fed ส่งสัญญาณชะลอหรือยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยราคาทอง อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อทันที ล่าสุดสำหรับผลสำรวจของ Bloomberg ซึ่งยังชี้ให้เห็นถึงการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาวะเศรษฐกิจแย่ลง ในทางกลับกันหาก Fed ส่งสัญญาณนโยบายที่เข้มงวดต่อ เพื่อหวังให้เงินเฟ้อลดลงราคาทองอาจถูกกดดันต่อ” นายพีระพงศ์ กล่าว
กราฟแสดงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.75%-5.0% ในเดือนมีนาคม 2566 คาดการณ์ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25%
นายพีระพงศ์ กล่าวต่อถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในเดือนพฤษภาคมว่า สถานการณ์ด้านฝั่งสหรัฐฯ ประเด็นสองที่ต้องติดตามคือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ว่า เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ คนตกงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่ Fed จะใช้ในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป อีกทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามเช่นกัน ซึ่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยังคงตัวในระดับสูงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 5% แม้ว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 แต่ยังห่างจากเป้าของ Fed ที่ระดับ 2% ต้องมาติดตามกันต่อในส่วนของเดือนเมษายนว่า เงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยจะประกาศในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566
กราฟแสดงอัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดชะลอตัวลงเหลือ 5% ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564
และสำหรับในประเด็นที่สาม สิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์ในสหรัฐฯ คือยังมีความเสี่ยงเกิด Bank Runs Moody's ปรับลดอันดับเครดิตธนาคาร 11 แห่ง ได้แก่ Associated Banc-Corp.,Comerica Inc., First Hawaiian Inc., First Republic Bank, Intrust Financial Corporation, UMB Financial Corp, Washington Federal Inc., Western Alliance Bancorp ,US Bank และ Zions Bancorporation ซึ่งสาเหตุคือ มีสินทรัพย์ลดลง การที่ Moody's ปรับลดอันดับเครดิตธนาคาร 11 แห่ง มีความเสี่ยงทำให้ธนาคารในสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเกิด Bank Runs และเพิ่มความเสี่ยงที่ธนาคารล้มเพิ่ม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเลิกจ้างงาน การลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งท่ามกลางผันผวนในหลายปัจจัยนี้อาจทำให้ธนาคารกลางของ BRICS ลดการถือดอลลาร์ไปถือทองคำมากขึ้น
สำหรับประเด็นที่สี่ ต้องติดตามสถานการณ์ในฝั่งยุโรป คือถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งนักลงทุนประเมินว่า มีโอกาสที่ ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับขึ้น 0.50% ในรอบประชุมนี้ และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในการประชุดครั้งถัดไป ซึ่งจะผลทำให้สกุลยูโรมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่า นับเป็นปัจจัยหนุนทองคำ
นอกจากนี้ในประเด็นที่ห้า ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อราคาทองคำเดือนนี้คือ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มส่งสัญญาณตรึงเครียดอีกครั้ง ล่าสุดรองประธานสภาความมั่นคงและพันธมิตรคนสำคัญของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ออกมาเตือนว่าโลกอาจเข้าใกล้การเกิดสงครามโลกครั้งใหม่เข้าไปทุกขณะ พร้อมขู่ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์กำลังเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน หากปัจจัยดังกล่าวส่อเค้ารุนแรงในเดือนพฤษภาคม อาจเป็นแรงหนุนให้ราคาทองคำขึ้นต่อ
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำในมุมทางเทคนิค พบว่าแนวโน้มราคาทองคำคาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน ราคาทองคำพยายามสร้างฐานที่ 1,970-1,980 usd/oz ถ้าหลุดแนวรับดังกล่าว ซึ่งจะอยู่บริเวณกรอบล่างของเส้นเทรนด์ไลน์คาดว่าจะมีแรงเทขายออกมามากและจะเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยจะปรับตัวลงไปที่แนวรับ 1,948-1,907 usd/oz ทั้งนี้ราคาทองจะเป็นขาขึ้นต่อหากสามารถเบรคแนวต้านอยู่ที่ 2,015 usd/oz โดยมีเป้าหมายถัดไปที่ 2,048 usd/oz -2,090 usd/oz นายพีระพงศ์ กล่าวสรุป
ข่าวเด่น