อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่น่าจับตาเนื่องด้วยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคโลก ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์เซ็นเซอร์ จอแสดงผล อุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ และนวัตกรรม เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเวทีเสวนา เรื่อง ‘อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับการพัฒนาประเทศไทย’ ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) โดยมี รศ.ดร.คมสัน มาลีสี, ดร.ชิต เหล่าวัฒนา, คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฏ, ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์, คุณวิรัตน์ ศรีอมรกิจกุล, รศ.ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม เผยประเทศไทยส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2021 ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 12.5% ของ GDP ประเทศ ชูธงทิศทางขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยให้กลายเป็น ‘อุตสาหกรรมต้นน้ำ’ จากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม‘อิเล็กทรอนิกส์ ต้นน้ำ’ หากไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศ ก็ยากที่ไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ High Technology เราจึงต้องมุ่งพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูง เมื่อสถาบันการศึกษาร่วมมือกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการและแนวโน้มอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ การผลิตและยกระดับกำลังคนให้พร้อมรองรับทั้งด้านฮาร์ดแวร์ การเขียนโปรแกรม การผลิตชิปดีไซน์ การออกแบบ หรือวงจรต่างๆ สร้างต้นแบบการเรียนรู้ Success Model และองค์ประกอบ ระบบนิเวศอื่นๆ เช่น ห้องแล็บ ยกระดับงาน R&D เครื่องมือสำหรับการเรียนการสอน เพื่อขยายผลไปสู่สถาบันต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและทิศทางการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งด้านอาชีวะศึกษาที่มีจำนวนมากจะเป็นแรงพลังสำคัญ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เดินไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ไทยควรเตรียมการรองรับการเติบโตของ อิเล็กทรอนิกส์ออร์แกนิคส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (Organic Electronics) ซึ่งกำลังมาแรงและเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ด้วยวัสดุและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรต่ำ ขั้นตอนผลิตที่เรียบง่าย มีความยืดหยุ่น และประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ เติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่และเป็นตลาดหลัก
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้ง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และมีบทบาทพัฒนา EEC กล่าวว่า การศึกษารูปแบบใหม่นอกจากเป็นการผลิตกำลังคนให้ทันเวลาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำไปสร้างแรงจูงใจให้เอกชนด้านอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์เข้ามาลงทุนใประเทศได้ แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญมากมายในมหาวิทยาลัย หากเราใช้ Supply Push เป็นแรงส่งขับเคลื่อนเราจะไปได้ช้า เรามีความสามารถในการประยุกต์การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยโดยมีภาคเอกชนนำ พร้อมกับการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน ปัจจุบันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการ EEC Sandbox มีหลักสูตรระยะสั้นกว่า 200 หลักสูตร พัฒนาบุคลากรไปแล้วกว่า 1 แสนคน โดยเราตั้งเป้าหมายพัฒนาบุคลากรในอีอีซีจำนวน 475,000 คน
คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านแรงงานคนและตลาดโลก หากมองที่ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ จะเห็น 2 โจทย์ คือ “อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์” และ “การพัฒนาประเทศ” สิ่งแรกคือขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศแบบ Competency Base ลดรูปแบบการศึกษาในเชิงปรัชญาและเชิงวิชาการ มีการออกไปเรียนรู้กับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเรียนแบบ Block Course โดยเริ่มต้นทันทีในรั้วการศึกษาของมหาวิทยาลัย ผลิตกำลังคนแบบ Supply Push ให้กลายเป็น Demand Pull ป้อนสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน การมี Co-Created Education อาจารย์จะต้องร่วมกันกับภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน และ In-Depth Partnerships เป้าหมายของการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตตอบโจทย์มาตรฐาน ‘พลเมืองโลก’ (Global Citizens) ได้รับผลตอบแทนสูง มีงานตั้งแต่เรียนจบ ประเทศไทยต้องมองไปที่การพัฒนา ‘Hi-End Technology’ ขยับขึ้นไปเป็น ‘ต้นน้ำ’ ลดการพึ่งพา Assembly และ Test โดยคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไมโครอิเล็คทรอนิกส์ จะเติบโตขึ้น 46 % ทั่วโลก
ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ ซีอีโอ บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดโควิด 19 การเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกก้าวกระโดดเติบโตมากถึง 1,1000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเรามองย้อนกลับไปในระดับมหภาครวมระยะ 30 ปีก่อน ยอดขายของเซมิคอนดักเตอร์เติบโต 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เห็นชัดเจนคือ เริ่มมีการเคลื่อนไหวของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในจีน ที่มองหาพาร์เนอร์และการตั้งบริษัทในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เคลื่อนไหวเช่นกัน เมื่อก่อนเราจะรับรู้ว่าเส้นทางเทคโนโลยีเป็นการเปลี่ยนจากโลกตะวันตกมาเป็นตะวันออก West to East แต่ในปัจจุบันเกิดการสวนกลายเป็น East to West ส่วนเทคโนโลยีของ Wafer Fabrication เทคโนโลยีของการ Design ย้ายมาเติบโตที่ East ซึ่งในต่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในส่วนของ ซิลิคอน คราฟท์ ฯ เติบโตขึ้น 2 เท่า ในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ตามเป้าหมายที่วางไว้ 4 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะเกิดโอกาสสำคัญๆ ที่น่าจับตามอง การให้ความสำคัญในเรื่อง Hardware Development ของเรายังมีไม่เพียงพอ ทำให้เราก้าวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ คือความต้องการเป็นของคนทั้งโลก เรามีความสามารถที่จะพัฒนาประเทศพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เราต้องมองไปถึงความต้องการในระดับโลก
คุณวิรัตน์ ศรีอมรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2021 อยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 12.5% ของ GDP ในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่อิเล็คทรอนิกส์ในประเทศไทยกลับไม่มี ‘ธุรกิจต้นน้ำ’ ในอนาคตเรามีแผนจะขยายโรงงาน พัฒนา R&D และ IC Design ระยะเวลา 5 ปีจะมีความต้องการวิศวกรกว่า 400 คน โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาเช่น สจล. ในการเป็นแก่นกลางทางด้านอิเล็คทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย สถาบันการศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพในประเทศไทย ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้จาก เวียดนาม ที่ได้ให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์สูงกว่าประเทศไทยมาก ไต้หวัน นับเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ความทะเยอทะยาน (Ambition) มีวิสัยทัศน์กว้างไกลสู่อนาคต 2.ความกล้าที่จะทำ (Courage) 3. ทำด้วยประสิทธิภาพและความรวดเร็ว (Agility) ให้ภาครัฐมองเห็นผลกระทบของภาพรวมใหญ่ในระยะยาว
รศ.ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม ผู้ประสานงาน สำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ หรือ Grand Technology ต่อไปในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีองค์ความรู้ในด้านนี้ และต้องไม่เป็นรองที่อื่น ผลักดันประเทศไทยให้เกิด ‘ฮับไมโครอิเล็กทรอนิกส์’ โดยให้ภาคเอกชนนำเป็นหลัก ภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ประสานให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อจะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ก้าวไปข้างหน้า
ข่าวเด่น