ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 – 19 พ.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบได้มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากตลาดยังคงกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มมากขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงฤดูกาลขับขี่ รวมถึง สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มออกมาซื้อน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์อีกครั้ง ขณะที่ อุปทานมีแนวโน้มปรับลดลงจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และการปิดดำเนินการฉุกเฉินของการผลิตในแคนาดาและอิรัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
ตลาดจับตาการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ภายใน 1 มิ.ย. หรือไม่ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ คาดจะส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยการประชุมล่าสุดระหว่างพรรรค Democrat และ Republican เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีข้อสรุป ส่งผลให้ตลาดเริ่มกังวลว่าสหรัฐฯ อาจจะมีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงคาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 5.0 - 5.25% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 16 ปี เพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย. 66 ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ตลาดคาด FED อาจจะไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป
ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงที่ราว 16.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังโรงกลั่นเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จากการปรับลดลงของการผลิตของแคนาดาและอิรัก โดยเหตุการณ์ไฟป่าในรัฐอัลเบอตา ประเทศแคนาดา ส่งผลให้ต้องมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินและมีการอพยพผู้คนจากแหล่งผลิต ทั้งนี้ โดยรวมการผลิตได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้นราว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นราว 4% ของการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มจะกลับมาปกติและทำให้สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ ขณะที่ การส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก จากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ยังคงปิดดำเนินการ โดยอาจจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้บางส่วนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยปริมาณการส่งออกที่ผ่านท่อส่งน้ำมันอยู่ที่ราว 450,000 บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 0.5 % ของอุปทานน้ำมันดิบโลก
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับลดลงตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ราว 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 เป็นต้นไป โดยล่าสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มมีการปรับลดปริมาณการขายลง 5% สำหรับน้ำมันดิบที่จำหน่ายในเดือน พ.ค. 66 ทั้งนี้ ตลาดจับตาการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันหรือไม่
ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีน ในเดือน พ.ค. 66 มีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า หลังโรงกลั่นในประเทศมีการปิดซ่อมบำรุงค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน เม.ย. 66 ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่ราว 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือน เม.ย. 66 GDP ไตรมาส 1 ของยูโรโซน และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 66
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 12 พ.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากการผลิตของแคนาดาที่ปรับลดลงราว 4% ของกำลังการผลิตของทั้งประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์ไฟป่าทำให้รัฐบาลต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งอพยพผู้คนออก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น สะท้อนจากปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 3.2 และ 1.2 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
ข่าวเด่น