เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผยผลการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงิน ครั้งที่ 1/2566


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงิน ครั้งที่ 1 /2566 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีผู้แทน จากหน่วยงานของรัฐทั้งด้านการเงิน ด้านการศึกษา และด้านสังคม หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 17 หน่วยงาน ร่วมประชุมเพื่อติดตามและพิจารณา การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 (แผนปฏิบัติการฯ) ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้


1. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19 แผนงาน และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ซึ่งการดำเนินงานในปี 2565 เป็นการวางรากฐานและเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะ ทางการเงินอย่างบูรณาการเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ยั่งยืน โดยมีแผนงานดำเนินการแล้วเสร็จ 7 แผนงาน ดำเนินการเป็นไปตามแผน 11 แผนงาน และต้องผลักดันต่อ 1 แผนงาน ซึ่งในปี 2565 หน่วยงานตามแผนปฏิบัติการฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดช่วงชีวิต ทั้ง 9 กลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มผู้มีงานทำ กลุ่มภาครัฐ กลุ่มประชาชนระดับฐานราก/องค์กรการเงินชุมชน กลุ่มผู้สูงวัย/ผู้เกษียณอายุ กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางทางการเงินสูง) จำนวนทั้งสิ้น 59 โครงการ โดยเป็นกิจกรรม การให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน การประกันภัย การคุ้มครองเงินฝาก การระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ การจัดทำแผนธุรกิจ การเงินดิจิทัล และการเตือนภัยทางการเงิน ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 3.59 ล้านคน มีจำนวนการเข้าถึงทางออนไลน์ 43.62 ล้านครั้ง และสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ทางการเงิน (Trainer) ได้ประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ สามารถขับเคลื่อนโดยลดข้อจำกัดในการดำเนินการให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานทางการเงิน รู้เท่าทันภัยกลโกง และการเงินดิจิทัล โดยดำเนินการให้หลักสูตรความรู้ทางการเงินเป็นหลักสูตรภาคบังคับ เช่น คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้มีมติเห็นชอบหลักการและแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำหนดให้การเข้ารับการอบรมและผ่านแบบทดสอบการพัฒนาทักษะทางการเงินเป็นเงื่อนไขของการได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ค. 2566 เวลา : 17:12:40
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 4:33 am