การค้า-อุตสาหกรรม
ภาครัฐต้องใช้กฎหมายในมือจริงจัง รวบตัวการหมูเถื่อน


 
“หมูเถื่อน” ล็อตใหญ่เป็นประวัติการณ์ที่โดนจับกุมเมื่อไม่นานมานี้จำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม พบในตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่กดดันทุกวิถีทางกระตุ้นภาครัฐออกมาปราบปรามขบวนการหมูเถื่อนอย่างจริงจัง เพราะทำให้ราคาในประเทศบิดเบือนต่ำกว่าหมูไทย 40-50% โดยเฉพาะหมูเถื่อนจากบราซิลที่หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคาเฉลี่ยเพียง 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูจากสหภาพยุโรปราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม ลักลอบมาถึงประเทศไทยสามารถขายได้ในราคา 100 บาทต้นๆต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูไทยราคา 200 บาท ซึ่งประเมินว่าหมูเถื่อน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ สามารถทำกำไรขั้นต่ำได้ 1 ล้านบาท ก็เป็นเงินหลายร้อยล้านบาท จึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

 
“หมูเถื่อน” ที่จับได้ต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุดและได้รับโทษสูงสุด ตาม พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เพื่อเปิดเผยโฉมหน้าขบวนการมิจฉาชีพที่หากินบนความทุกข์ยากของผู้เลี้ยงหมูไทย ซึ่ง กรมศุลกากร ต้องแสดงบทบาท “เจ้าภาพหลัก” อย่างเป็นทางการ ใช้กฎหมายในมือควบคู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าของสินค้าผิดกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สามารถสืบสวนและสอบสวนนำหลักฐานไปใช้ลงโทษตามความผิด

ล่าสุด กรมศุลกากร ส่งไม้ต่อให้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก) ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในฐานะนิติบุคคลและฐานะส่วนตัว ในความผิดนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรทั้งมีชีวิต รวมทั้งเนื้อสุกร และเครื่องในสุกร กรณีตรวจพบหมูเถื่อนตกค้างในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

 
อย่างไรก็ตาม สังคมยังตั้งข้อสังเกตเหตุใดกรมศุลกากร จึงตรวจไม่พบซากสุกรผิดกฎหมายเหล่านี้ที่ซุกซ่อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ค้างปีอยู่หน้าท่าเรือ และควรตรวจสอบระบบที่ยังหละหลวม ทำให้หลุดรอดออกมาจับได้ที่ห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ หลายครั้ง

ขั้นตอนตรวจสอบทำได้ไม่ยาก เพราะมีผู้ชำนาญการเต็มท่าเรือ หากตรวจสอบอย่างจริงจังและยังมีเครื่องสแกนเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวช่วย ก็จะพบของผิดกฎหมายโดยไม่ต้องออกแรงมาก แต่ที่ผ่านมากลับมีตู้สินค้าได้รับอภิสิทธิ์ไฟเขียว (Green Line) ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ “หมูเถื่อน” ที่พบจึงเป็นการสำแดงเท็จว่าเป็นอาหารทะเลหรือปลา จึงตรวจไม่พบ และในปี 2565 กรมศุลกากรจึงการจับกุมเพียง 7 ครั้ง ได้หมูเถื่อนเพียง 55.10 ตัน เท่านั้น ที่สำคัญเป็นการจับกุมนอกท่าเรือฯ ทั้งสิ้น และร่วมกับหน่วยงานอื่นอีก 10 ครั้ง ได้หมูเถื่อน 162.24 ตัน

 
ขณะที่ กรมปศุสัตว์  มีดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เพื่อสกัดกั้นและปราบปราม “หมูเถื่อน” ผลงานระหว่างปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย การเข้าตรวจสอบผู้ประกอบการรวม 510 ครั้ง จับกุมผู้กระทำความผิด 156 ราย ยึดอายัดซากและชิ้นส่วนสินค้าปศุสัตว์ปริมาณรวม 2,035,274 กก. มูลค่า 283,185,357 บาท แบ่งเป็นซากและ ชิ้นส่วนสุกร 1,104,530 กก. มูลค่า 183,757,844 บาท ที่เหลือเป็นชิ้นส่วนไก่และโค-กระบือ
 
 
วันนี้ หลักฐานชัดมัดแน่นผู้กระทำผิด รอตำรวจดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายสอบสวนและสืบสวนเชิงลึกอย่างถูกต้อง และสามารถส่งเรื่องผู้กระทำผิดกรณี “หมูเถื่อน” ต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด เป็นการเปิดเผยโฉมหน้าผู้กระทำผิดตัวจริงให้สังคมได้รับรู้และได้รับการลงโทษสมกับความผิดอย่างโปรงใส อย่างไรก็ตาม การปราบปรามหมูเถื่อนยังคงต้องดำเนินต่อไป และจากนี้ไป สินค้าผ่านเข้ามาทางท่าเรือต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดทุกตู้ เพื่อกำจัดปัญหาไม่ให้เรื้อรัง ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศและความปลอดภัยของคนไทยทุกคน ./ 
 
อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2566 เวลา : 14:49:37
23-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 23, 2025, 1:50 pm