การรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียวคาดเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี (ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี)
นอกจากนี้ โครงการไฟฟ้าสีเขียวจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่องราว 1.82 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวโดดเด่นที่สุด คือธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
โครงการไฟฟ้าสีเขียวจะช่วยให้ภาคเอกชนที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอน 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ (หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.4 ล้านบาท/ปี) สำหรับทุก 1 เมกะวัตต์ที่ซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในโครงการนี้ เพราะสามารถใช้ไฟฟ้าดังกล่าวในการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยัง EU ซึ่งช่วยลด Carbon footprint ของสินค้าเหล่านั้น จึงส่งผลให้ค่าธรรมเนียมคาร์บอนลดลงตาม
ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว โดยคาดว่า ภายในปี 2569 สหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นำเข้าจากผู้ผลิตนอกสหภาพยุโรป เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ อีกทั้ง ภาครัฐของไทยก็มีแผนที่จะเก็บภาษีคาร์บอนกับภาคเอกชนในอนาคต ซึ่งจะกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว และหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เพื่อรับรองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังานสะอาดของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในรอบแรก เบื้องต้นคาดว่าจะมีสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี และรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 3,362 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 1) การรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 2,368 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2) ส่วนที่เหลืออีก 994 เมกะวัตต์ จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2567-73 นอกจากนั้น โครงการนี้มีแนวโน้มจะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นระยะเวลา 10-25 ปี พร้อมทั้ง ให้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งสามารถใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กับผู้ประกอบการที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ อีกด้วย
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กล่าวมาในข้างต้นย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งจะวิเคราะห์ในบทความนี้
I. โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ช่วยหนุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ให้เติบโตมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ ?
การที่ภาครัฐได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจำนวน 3,362 เมกะวัตต์ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในระยะข้างหน้าราว 1.3 แสนล้านบาท และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี
นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 1) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 7.48 หมื่นล้านบาท และ 2) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 5.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น สามารถเพิ่มรายได้ทั้งหมดให้กับธุรกิจดังกล่าวราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ 25 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 38% ของมูลค่าตลาดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปี 2564 โดยแบ่งเป็น 1)รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประมาณ 2.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.83 พันล้านบาท/ปี และ 2) รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 1.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4.84 พันล้านบาท/ปี เมื่อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการดังกล่าวทั้งหมดสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาคืนทุนของโครงการรับไฟฟ้าสีเขียว พบว่า กลุ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ( BESS) จะใช้เวลาคืนทุน 9.3 ปี และ 9.8 ปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอายุสัญญาการขายไฟในโครงการดังกล่าวที่ 25 ปี โดยโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทมีเงินลงทุนราว 32 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และ 53 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ตามลำดับ และจะมีรายได้จากจากการขายไฟแก่ภาครัฐประมาณ 3.7 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ และ 4.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี คาดว่าโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับ BESS ในโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทน (IRR) อยู่ราว 9.1% ต่อปี และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเคยลงทุน ซึ่งอยู่ประมาณ 10-15% ต่อปี เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวอยู่ที่ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2559-66 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.97-5.66 บาท/หน่วยไฟฟ้า
การขยายตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่าสุดย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีแนวโน้มใช้บริการของอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะ 7 ปี ข้างหน้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว Krungthai COMPASS จึงจะวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่อุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับในหัวข้อถัดไป
II. อุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยได้รับประโยชน์จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวมากน้อยเพียงใด ?
ก่อนที่จะวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่แต่ละธุรกิจในอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะได้รับ จะมาอธิบายเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มขั้นต้นน้ำ เป็นกลุ่มธุรกิจแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้น เช่น ผู้ผลิตซิลิกอนเกรดเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย และบราซิล
2) กลุ่มขั้นกลางน้ำ เป็นธุรกิจผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) และอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น Solar Inverter (เครื่องแปลงไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ให้เข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้า) โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มักนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจากจีน และออสเตรเลีย เช่น ซิลิกอนเกรดเซลล์แสงอาทิตย์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ยังไม่ประกอบ มาผลิตต่อ เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นหลัก
3) กลุ่มขั้นปลายน้ำ เป็นธุรกิจรับจ้างติดตั้งแผงและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าจากจีน เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และ Solar Inverter มาให้บริการติดตั้ง โดยลูกค้าหลักของกลุ่มนี้ คือ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีจำนวน 63 ราย8 โดยส่วนมากกระจุกตัวในธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมีสัดส่วนถึง 54% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งกลุ่มนี้ ส่วนที่เหลือ อีก 46% พบว่ามีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อ และผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของ Supply Chain ของอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่จะเติบโตโดดเด่นจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าเขียวในระยะข้างหน้า มี 4 กลุ่ม ได้แก่
• กลุ่มรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มีทิศทางเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม ตามความต้องการใช้บริการติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-73 และ อีก 5.3 พันล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานของ Solar inverter โดยรายได้ทั้งหมดนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1)รายได้จากขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ราว 6.7 หมื่นล้านบาท 2)รายได้จากขาย Solar inverter ราว 1.1 หมื่นล้านบาท10 และ 3)รายได้จากค่าบริการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท10 ซึ่งรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 113% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อาจได้รับอานิสงส์จากการขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์สูงสุด 5.5 หมื่นล้านบาท11 แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการดังกล่าวส่งออกไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการในการกลุ่มนี้หันมาการขายสินค้าในประเทศมากขึ้น จะมีรายได้เพิ่มเติมจากการขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับผู้ให้บริการติดตั้งและก่อสร้างแก่โรงไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-739 โดยรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 10% ของรายได้รวมของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น Solar inverter คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเติมจากการขาย Solar inverter ให้กับผู้ให้บริการติดตั้งและก่อสร้างแก่โรงไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 8.7 พันล้านบาท โดยรายได้จำนวน 4.35 พันล้านบาท จะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-739 และ อีก 4.35 พันล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานโดยรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 11% ของรายได้รวมของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียม คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการขายแบตเตอรี่ลิเธียมให้กับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 2.2 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันกำลังการผลิตเกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียมของไทยผลิตสินค้า เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างไรก็ดี อาจมีโอกาสเติบโตดีจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในอนาคต เพราะเริ่มเห็นผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น บจก. นูออโว พลัส ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ได้จัดตั้ง บจก. เอ็นวี โกชั่น ร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ BESS ชั้นนำของจีน เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้าและประกอบชุดแบตเตอรี่สำหรับ BESS และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดว่าเดินสายผลิตสายผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์/ชั่วโมง/ปี และจะขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์/ชั่วโมง/ปี ภายในปี 2568 จึงคาดว่าได้รับอานิสงส์การลงทุน BESS ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยงบลงทุนดังกล่าวจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ในช่วงปี 2566-73 และ อีก 1.1 หมื่นล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานของ BESS ซึ่งรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 57% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจนี้ในปี 2565
โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว นอกเหนือจากจะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังช่วยให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว หลังคาดว่า ภายในปี 2569 สหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน เนื่องจากโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถลด Carbon footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรของสินค้า) ให้ผู้ประกอบการไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อการลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าเหล่านั้นในระยะข้างหน้า โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะวิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป
III. โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวช่วยภาคเอกชนของไทยมากน้อยเพียงใด?
ก่อนที่จะวิเคราะห์ผลประโยชน์จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในแง่ของการประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) จะมาอธิบายเกี่ยวกับมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าคาร์บอนของ EU(CBAM) ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้น มีดังนี้
มาตรการ CBAM คือ กลไกภาษีนำเข้าคาร์บอนของ EU ซึ่งบังคับให้ผู้ส่งออกนอก EU ต้องรายงานข้อมูล และจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CBAM Certification) ก่อนที่จะนำสินค้ามาขายใน EU โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ผู้ส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า และอะลูมิเนียม ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะขายใน EU โดยในระยะแรกยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน ก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 ซึ่งจะเชื่อมโยงกับราคา EU Emission Trading System (EU ETS) โดย Boston Consulting Group (BCG) คาดว่าค่าธรรมเนียมคาร์บอนจะอยู่ประมาณ EUR 75 /tCO2 (2,800 บาท/tCO2 ) ในปี 2569
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกของมาตรการ CBAM ไปยัง EU ของไทย ในปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกรวมอยู่ราว 4.9 พันล้านบาท และ 45,000 ตัน ตามลำดับ และอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท และ 18,530 ตัน ตามลำดับ
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตราการ CBAM ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนทั้งหมดประมาณ 194 ล้านบาท/ปี และ 244 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ หาก EU จัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับผู้ส่งออกดังกล่าว ตามการคาดการณ์ของ BCG ในปี 2569 ซึ่งการประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าปริมาณ Carbon footprint ของเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม เท่ากับปี 2565 ซึ่งอยู่ประมาณ 69,850 tCO2 และ 87,810 tCO2 ตามลำดับ
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1 เมกะวัตต์ที่ผู้ประกอบการที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว จะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนราว 0.7% และ 0.6% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดของแต่ละสินค้า ตามลำดับ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.4 ล้านบาท/ปี เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถใช้ไฟฟ้าจากโครงการนี้ เพื่อผลิตสินค้าที่ส่งออกไป EU ซึ่งจะช่วยลด Carbon footprint ของสินค้าเหล่านั้น จึงมีประโยชน์ต่อการลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว โดยประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สามารถลด Carbon footprint ราว 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่าสุดของภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการที่ส่งออกไปยัง EU ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มาตรการ CBAM จะขยายการครอบคลุมเพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมัน และโพลีเมอร์ เป็นต้น16 จึงส่งผลให้ผู้ส่งออกดังกล่าวมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU มากขึ้นในระยะยาว
การที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์สูงถึง 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า 25 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.37 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง ช่วยหนุนให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างกระโดด เช่นเดียวกัน โดยธุรกิจที่เติบโตโดดเด่นจะเป็นธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น โครงการนี้ยังช่วยให้ภาคเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) สามารถลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว หลัง EU จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนภายในปี 2569 เพราะผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยัง EU ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าเหล่านั้น อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา
พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น