แบงก์-นอนแบงก์
การประชุมสุดยอดสตาร์ทอัพญี่ปุ่น - ไทย เรื่อง AGRITECH BRIDGE 2023 เปิดฉาก เน้นให้ความสำคัญด้านการเกษตรยั่งยืนและความร่วมมือระหว่างประเทศ


 
 
การประชุมสุดยอดสตาร์ทอัพญี่ปุ่น – ไทย เรื่อง AGRITECH BRIDGE 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ K-Stadium อาคารกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)  ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย อากุเวนเจอ แลป (AgVenture Lab) และธนาคารโนรินจูกิง (Norinchukin Bank) โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ นักลงทุน และบริษัทสตาร์ทอัพจากทั้งสองประเทศ การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และสนับสนุนการปฏิบัติอย่างยั่งยืนร่วมกันในด้านอาหารและการเกษตรระหว่างญี่ปุ่นและประเทศไทย

 
นายโคกิ โอกิโนะ (Mr.Koki Ogino) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AgVenture Lab เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิบัติอย่างยั่งยืนด้านการเกษตรและความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นในด้านอาหาร การเกษตรและความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญแก่บันทึกความเข้าใจด้านการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารโนรินจูกิง ซึ่งครอบคลุมถึงนวัตกรรมในอนาคตเพื่อให้การส่งเสริมด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารอีกด้วย

 
ด้านนายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้บรรยายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น – ไทย และกล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้อาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อยกระดับในมิติใหม่ ๆ ของความร่วมมือ นอกจากนี้ ได้กล่าวย้ำว่าธนาคารกสิกรไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพญี่ปุ่นในตลาดไทย และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาอาหารและการเกษตร ในท้ายที่สุด ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของธนาคารกับหน่วยงานสำคัญต่างๆ ในโครงการรักษ์ป่าน่าน ที่ได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ของประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรมและความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งต่างมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
 

 
ในการประชุม สตาร์ทอัพชั้นนำของญี่ปุ่นจำนวน 8 บริษัทได้นำเสนอนวัตกรรมและโมเดลทางธุรกิจของบริษัทรายละ 15 นาที ตามด้วยช่วงการตอบคำถามเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม เริ่มต้นจาก HEMIX (Business Innovation Partners) – นำเสนอพลาสติกชีวภาพจากการคิดค้นเป็นรายแรกของโลกโดยใช้ของเสียด้านการเกษตร ป่าไม้และประมง, SAGRI – การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม, EF POLYMER – ผลิตโพลิเมอร์ดูดซับจากกล้วยที่เน่าเสียและเปลือกส้มเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและการเสื่อมโทรมของดิน, Ecologgie – ผลิตโปรตีนคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนา และใช้เศษอาหารและของเหลือจากผลิตผลทางการเกษตร เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร, Ac-Planta – พัฒนาและผลิต “Skeepon” ซึ่งเป็นวัสดุสำหรับป้องกันพืชจากภาวะด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้กรดอะซิติก, Towing – ผลิตดินที่มีคุณภาพสูงโดยมีจุลินทรีย์ที่ช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาการตรึงคาร์บอนในที่ดินเพื่อการเพาะปลูก, Agri Smile ใช้ระบบการวิจัยที่ก้าวหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สารกระตุ้นทางชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ, และ Agnavi – พัฒนา ICHI-GO-CAN และ Canpai ซึ่งเป็นแบรนด์สาเกที่บรรจุในกระป๋องขนาด 180 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นความจุที่สะดวกต่อการพกพา และมีรูปลักษณ์ทันสมัย

 
นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่าย โดยผู้เข้าร่วมประชุมสามารถพบปะพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนในสาขาการเกษตร ทั้งยังได้ลิ้มรสซูชิต้นตำรับจาก CP-UORIKI ในการกล่าวปิดการประชุม นายนารุโตชิ โอจิไอ (Narutoshi Ochiai) กรรมการบริหารของ AgVenture Lab ได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้และกล่าวย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและนวัตกรรมในสาขาการเกษตรระหว่างญี่ปุ่นและไทย 

 
การประชุมสุดยอดสตาร์ทอัพญี่ปุ่นและไทย เรื่อง AGRITECH BRIDGE 2023 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและการปฏิบัติอย่างยั่งยืนด้านการเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารในอนาคต รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย ญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ค. 2566 เวลา : 15:53:09
12-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 12, 2025, 1:45 am