กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชวน! ผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา “ร่วมสร้างเศรษฐกิจมั่งคั่ง จัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน” 22 พ.ค.นี้ เตรียมกางผลการศึกษาความเป็นไปได้-ประโยชน์-ผลกระทบ ในการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับภูฏาน รับฟังความเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน พร้อมจัดเวทีแชร์ประสบการณ์ด้านการค้าและการลงทุน จากวิทยากรภาครัฐ-เอกชน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดงานสัมมนา เรื่อง“ร่วมสร้างเศรษฐกิจมั่งคั่ง จัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน” วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ณ ห้องพญาไท 4 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน หากไทยมีการเจรจาจัดทำ FTA กับภูฏานในอนาคต
นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน โดยกรมได้มอบหมายให้บริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับในกรณีที่ไทยจะเจรจาจัดทำ FTA กับภูฏานในอนาคต พร้อมทั้งการเสวนาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน โดยวิทยากรจากกระทรวงการต่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และบริษัทกรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด
“ปัจจุบันภูฏานอยู่ระหว่างการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโลจิสติกส์ เพื่อเตรียมสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศกำลังพัฒนาในช่วงปลายปีนี้ และตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ในปี 2583 ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ และท่าเรือบกอีกหลายแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภูฏานไม่ใช่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากต่างประเทศ แต่มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถใช้ต่อยอดการผลิตของไทยได้ อาทิ แร่เหล็ก หินอ่อน และไม้ซุง” นางอรมนเสริม
ทั้งนี้ ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 25.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 25.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผ้าผืน ผลไม้แห้งอื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ วอดก้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เมล็ดธัญพืช และเครื่องจักสาน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://forms.gle/Ep35mtaLozBm5rdH9
ข่าวเด่น