นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก (World Leader of Tropical Seeds) สู่ความเข้มแข็งของชุมชนและการเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์อย่างยั่งยืน สนับสนุนเป้าหมายการส่งออกเมล็ดพันธุ์ ให้มีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท/ปี
การตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นขั้นตอนสำคัญในการค้าขายเมล็ดพันธุ์ ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย ใช้กฎการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของสมาคมทดสอบเมล็ดพันธุ์นานาชาติ (International Seed Testing Association : ISTA) ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกฎการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานสากลที่นานาประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ นอกจากนี้ ISTA ยังเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในระดับสากล
สำหรับประเทศไทยห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISTA ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ ประเทศคู่ค้า รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย อีกทั้งช่วยให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น เนื่องจากบางประเทศมีข้อกำหนดให้ผู้ส่งออกใช้ใบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของ ISTA เท่านั้น
จากการที่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ต้องการขอการรับรองมาตรฐานจาก ISTA เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ทำให้จำนวนผู้ตรวจประเมินของ ISTA ไม่เพียงพอ ISTA จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรภาครัฐของประเทศสมาชิกเพื่อเป็นผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐาน ISTA (ISTA Technical Auditor)
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ข้าราชการของกรมวิชาการเกษตรนางสาวภภัสสร วัฒนกุลภาคิน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย ให้ฝึกอบรมเป็น ISTA
Technical Auditor เพื่อเป็นผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ สมาคมทดสอบเมล็ดพันธุ์นานาชาติ
ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการต้องมาจากห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองจาก ISTA โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประเมินจากคณะกรรมการของ ISTA และคาดว่าจะเสร็จสิ้นและได้การอนุมัติอย่างเป็นทางการภายในต้นปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความชำนาญด้านการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์และตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISTA เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเจ้าหน้าที่วิเคราะห์คุณภาพและยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
บทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐาน ISTA ให้แก่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียในอนาคต จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและรองรับการเติบโตของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียสู่ตลาดโลก กิจกรรมดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการร่วมผลักดันนโยบายของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก (World Leader of Tropical Seeds)
ข่าวเด่น