เป็นเวลามากกว่า 1 ปี ที่ผู้บริโภคคนไทยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้เลี้ยงสุกร นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยประกาศพบโรคระบาด ASF เมื่อต้นปี 2565 ที่ทำให้ผลผลิตหายไปจากระบบมากกว่า 50% เกิดผลผลิตขาดแคลน ราคาปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขยับขึ้นจาก 65-70 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 110-120 บาทต่อกิโลกรัม หมูปิ้งและหมูสะเต๊ะปรับขึ้นไม้ละ 1- 2 บาท อาหารตามสั่งปรับขึ้นจานละ 5 บาท ส่วนร้านหมูกระทะขึ้นกับทำเลและคุณภาพวัตถุดิบที่นำมาใช้ ผู้บริโภคร้องระงมให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วน ด้านกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรยืนยันว่าจะสามารถผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการของคนไทยภายใน 1 ปี
ถึงวันนี้ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับลงไปเกือบเท่าระดับเดิมโดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-79 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรกล้านำหมูเข้าเลี้ยงมากขึ้นจากระบบการป้องกันที่มีมาตรฐานสากล และได้รับคำแนะนำทางวิชาการจากฟาร์มใหญ่ที่ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เลี้ยงรายย่อย-รายเล็ก ทำให้การฟื้นฟูฟาร์มทำได้ดีและมีการทยอยนำหมูเข้าเลี้ยงเพิ่มขึ้น มีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดแม้จะยังไม่มากแต่ก็เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยประมาณการว่าปี 2566 ไทยจะมีผลผลิตหมูทั้งสิ้น 17.5 ล้านตัว
อย่างไรก็ตาม ราคาที่อ่อนตัวลงนี้ ไม่ได้สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของเกษตรกร เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะ “หมูเถื่อน” จากบราซิล เม็กซิโก หรือ เนเธอร์แลนด์ และสเปน ที่มีต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัจจัยการผลิตอื่นต่ำกว่าไทยมาก โดยต้นทุนหมูมีชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับไทยเมื่อต้นปีทีผ่านมายังอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม และบางประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารกระตุ้นมะเร็ง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพด ข้าวสาลี ยังยืนอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น ทำให้ “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบขายในราคาต่ำแย่งส่วนแบ่งการตลาดหมูไทยไป เนื่องจากผู้บริโภคแยกไม่ออกระหว่างหมูไทยกับหมูเถื่อน
ราคาหมูเริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้เลี้ยงหมูไทยโดยเฉพาะเลี้ยงหมูรายย่อยอยู่ในสถานะขาดทุน และหาก “หมูเถื่อน” ที่ไม่ผ่านมาการตรวจมาตรฐานโรคระบาดและสารปนเปื้อนยังขายปะปนกับหมูไทยเช่นนี้ ผู้ลี้ยงหมูคงต้องเลิกกิจการแน่นอนเพราะไม่สามารถแบกขาดทุนสะสมไปได้นานกว่านี้ รวมถึงหมูไทยยังผ่านการตรวจสอบและรับรองจากกรมปศุสัตว์ และสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารห้ามใช้ในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากยังไม่สามารถปราบหมูเถื่อนให้หมดไปได้ โอกาสเสี่ยงที่คนไทยจะตายผ่อนส่งจากโรคระบาดสัตว์และสารเร่งเนื้อแดงมีอยู่สูง
ปัจจุบัน ราคาเนื้อหมูไทยปรับลดลงต่อเนื่องตามกลไกตลาด กรมการค้าภายในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าหมูเนื้อแดงราคาลดลง 6% เฉลี่ยอยู่ที่ 142 บาทต่อกิโลกรัม จากช่วงที่ขาดแคลนราคาปรับขึ้นไป 200-210 บาทต่อกิโลกรัม จากผลผลิตที่ทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาที่ผู้เลี้ยงหมูไทยได้รับยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจาก “หมูเถื่อน” ยังเป็นปัจจัยหลักบิดเบือนราคา ขณะที่คนได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือขบวนการลักลอบนำเข้า ดังนั้นผู้เลี้ยงและผู้บริโภคต้องไว้ใจกัน เลือกบริโภคหมูไทยที่ผู้เลี้ยงใส่ใจเพื่อให้ได้เนื้อคุณภาพดีและปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและขายในราคาสมเหตุผลตามกลไกตลาด เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารของคนไทยทั้งประเทศ./
ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ
ข่าวเด่น