นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 ของจังหวัดชัยภูมิ แหล่งปลูกอันดับที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากจังหวัดเลย เกษตรกรส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 95 ปลูกในพื้นที่ ตำบลท่าหินโงม และตำบลซับสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่ง สศท.5 ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 คาดการณ์ว่า ปี 2566 จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 8,151 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 8,192 ไร่ (ลดลง 41 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.50) เนื่องจากเกษตรกรปรับลดพื้นที่ปลูกเมื่อปีที่ผ่านมาจากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังโรงงานที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและใช้ปุ๋ยเคมีที่น้อยกว่า ผลผลิตรวม จำนวน 32,714 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 38,879 ตัน (ลดลง 6,165 ตัน หรือร้อยละ 14.33) และ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 4,013 กิโลกรัม/ไร่ ลดจากปีที่แล้วที่มีจำนวน4,746 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 733 กิโลกรัม หรือร้อยละ 15) ซึ่งผลผลิตรวมและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นปี มีฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศแปรปรวนช่วงผลสับปะรดกำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลสับปะรดบางส่วนไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเกิดภาวะแห้งแล้งทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ บางส่วนไม่ติดผล ผลเล็ก แคระแกร็น ทั้งนี้ สับปะรดปัตตาเวียสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม ประมาณ 17,018 ตัน หรือ ร้อยละ 52 ของผลผลิตทั้งจังหวัด
ขณะนี้ ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิอยู่ในช่วงออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 สับปะรดปัตตาเวีย จังหวัดชัยภูมิออกตลาดแล้ว 14,123 ตัน คิดเป็นร้อยละ 43.17 ของผลผลิตทั้งจังหวัด ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 เกษตรกรขายผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป จังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง สำหรับราคาขายแบ่งเป็น 2 เกรด (ราคา ณ ไร่นา วันที่ 22 พฤษภาคม 2566) ได้แก่ สับปะรดผลขนาดใหญ่ ราคา 7.70 บาท/กิโลกรัม สับปะรดผลขนาดเล็ก ราคา 2.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนผลผลิต ร้อยละ 10 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ราคา 10 - 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของผล ทั้งนี้ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จัดอยู่ในกลุ่ม Smooth cayenne เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ลักษณะผลโตกว่าสายพันธุ์อื่น และยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคสดด้วย ซึ่งมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากเก็บเอาไว้สักระยะ ก็จะมีรสชาติหวานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ต้นสับปะรดขาดน้ำ ขนาดผลและน้ำหนักสับปะรดลดลง ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสับปะรดสำหรับโรงงาน อีกทั้ง ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2566 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและกระจุกตัว ทางคณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ตัวแทนผู้รับซื้อ และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่สับปะรด ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ได้แก่ 1) การปรับแผนการผลิตเป็นสับปะรดบริโภคผลสดแทนบางส่วน 2) การเพิ่มช่องทางตลาด หาตลาดอื่นรองรับ เช่น การทำน้ำหมักจากสับปะรด การกระจายเป็นอาหารสัตว์ เช่น โคขุน โคนม และ 3) ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งนี้ คณะทำงานบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านสถานการณ์ภัยแล้ง และตลาดสินค้าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์ด้านการผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 จังหวัดชัยภูมิ สามารถสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.5 โทร 0 4446 5120 หรือ อีเมล zone5@oae.go.th
ข่าวเด่น