เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่? เจรจาเพิ่มเพดานหนี้ไปถึงไหนแล้ว?


ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ คงจะเป็นเดือนที่สหรัฐอยู่ในสภาวะตึงเครียดมากที่สุดของปีเลยก็ว่าได้ เพราะยังไม่มีข้อยุติเรื่องของปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ ระหว่างทางฝั่งรัฐบาลของ โจ ไบเดน และฝั่งของรัฐสภาที่ยังดึงดันกันไปมา เนื่องจากมีข้อกำหนดของเรื่องเพดานหนี้นั้นแตกต่างกัน และเป็นเรื่องของเกมการเมืองที่แฝงเข้ามาอีกด้วย

จากที่ได้เคยกล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า ทางด้านรัฐบาลปัจจุบันตอนนี้ นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากฝั่งของพรรคเดโมแครต ต้องเข้าหารือเจรจาต่อรองกับ สภาผู้แทนราษฎร ที่ฝั่งของพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้ โดยทางรัฐสภาจะมีอำนาจเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ว่าจะอนุมัติหรือไม่ หรือมีข้อกำหนดบางอย่างให้รัฐบาลทำตามเพื่อแลกกับการขยายเพดานหนี้สหรัฐให้ ซึ่งการมาถึงของเทศกาลการเลือกตั้งสหรัฐในปี 2024 ที่ระหว่างสองพรรคต้องแย่งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี หรือการเป็นฝ่ายรัฐบาลกัน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อกำหนดที่พ่วงมาด้วยกับการขยายเพดานหนี้ของระหว่างสองฝั่งนั้นไม่ลงรอยกัน โดยทางโจ ไบเดน ต้องการให้ขยายเพดานหนี้โดยไม่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่ทาง เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากฝากของรีพับลิกันต้องการให้ทางรัฐบาลต้องลดค่าใช้จ่ายย้อนหลังลงจากเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อน ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะสามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีกมาก โดยถ้าหากทางประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่ยอมรับการปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐตามที่เสนอไป ทางฝั่งรีพับลิกันในสภาล่างก็จะไม่อนุมัติในการขยายเพดานหนี้ และปล่อยให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้งวดแรกในวันที่ 1 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

ซึ่งถ้าหากสหรัฐขยายเพดานหนี้ไม่ทัน ก็จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระทบต่อตลาดเงินสหรัฐและตลาดการเงินทั่วโลก สหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยครั้งสำคัญ เป็นอันตรายต่อเงินบำนาญของสหรัฐ และข้อมูลของบริษัทมูดดี้ส์ ก็ได้ประเมินความเสี่ยงทางการเงินว่าชาวอเมริกันเกือบ 8 ล้านคนจะตกงาน หากรัฐบาลผิดชำระหนี้ จากประเด็นนี้จึงสร้างความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ และตลาดการเงินทั่วโลก เพราะหากสหรัฐเบี้ยวหนี้จริงๆจากเกมทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายไม่ลงรอยกัน เศรษฐกิจทั่วโลกอาจเข้าสู่ความหายนะได้เลยอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการเจรจาในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีเค้าลางว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะมีการบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆนี้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเริ่มเห็นผลกระทบขนาดใหญ่หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา โดยทางสำนักข่าวรอยเตอร์ส ได้รายงานว่าทางประธานาธิบดี โจ ไบเดน และ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้วในการขยายเพดานหนี้ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์เป็นเวลา 2 ปีด้วยกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีการเห็นพ้องตรงกัน ในการที่จะเพิ่มงบรายจ่ายที่สนับสนุนกองทัพเเละหน่วยงานหลักด้านการเก็บภาษีสหรัฐ หรือ Internal Revenue Service รวมถึงการคงรายจ่ายที่ไม่ใช่การป้องกันประเทศไว้ในระดับปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาล(ฝั่งพรรคเดโมแครต) จะพิจารณาลดแผนในการเพิ่มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสรรพากรในการจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี การเก็บภาษีที่พุ่งเป้าไปยังเศรษฐีอเมริกัน และการจำกัดการใช้จ่ายในโครงการรัฐหลายโครงการที่ไม่จำเป็น เช่นด้านที่อยู่อาศัย และด้านการศึกษา แต่ก็ยังมีประเด็นหลักๆที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่นเรื่องเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ ที่ทางฝ่ายรัฐสภาต้องการให้ผู้รับสวัสดิการสังคม เเสดงหลักฐานการทำงานหรือพยายามหางานทำ สำหรับประชาชนอายุต่ำว่า 56 ปีและไม่มีบุตร ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ที่จะช่วยให้สหรัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายลง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 10 ปี แต่ก็ต้องแลกกับการที่จะทำให้ชาวอเมริกันกว่าหนึ่งล้านคนไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่โจ ไบเดน ไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ที่เคร่งครัดขึ้นนี้

ทางด้าน โจ ไบเดน กล่าวกับทางสำนักข่าวว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการปรับลดรายจ่ายนี้ว่า รัฐบาลสามารถใช้จ่ายในโครงการที่ไม่จำเป็นได้เท่าไหร่ (ทั้งสองฝ่ายยังมีการเห็นต่างเกี่ยวกับวงเงินประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขทั้งหมดที่คาดว่าจะมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยกัน) ซึ่งเป็นข้อตกลงขั้นสุดท้ายก่อนการอนุมัติขยายเพดานหนี้สหรัฐ เพราะทางรัฐบาลมองว่าไม่ควรผลักภาระให้กับคนชั้นกลางและกลุ่มคนที่ใช้แรงงานในประเทศ

สุดท้ายแล้ว แม้ยังไม่ได้ข้อตกลงที่เป็นทางการ แต่ทางฝั่งรีพับลิกันก็ได้ยอมถอยจากแผนการเพิ่มการใช้จ่ายทางการทหารไปที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศในบริบทอื่นๆยังต้องมีการหารือกันต่อไป ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่าจะได้ข้อยุติและสามารถจ่ายหนี้ได้ตามเวลาก่อนเส้นตายวันที่ 1 มิ.ย. หรือไม่
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ค. 2566 เวลา : 19:39:25
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 2:40 am