เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผย ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566


 

เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากคนไทยและต่างประเทศในทุกภูมิภาค รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งจากคนไทยและต่างประเทศในทุกภูมิภาค รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค” โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 32.6 ต่อปี แม้ว่าจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.3 สำหรับเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 37.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 38.4 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของเงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 21.2 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 32.4 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 1,702.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,326.5 ต่อปี จากการลงทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดพิจิตร เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 92.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวน ผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 27.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 49.6 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไป รายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และ 22.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 39.9 ต่อปี และรายได้ จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 52.5 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไป และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับรายได้เกษตรกรชะลอตัว ร้อยละ -29.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงาน ที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 85.6 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวน ผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 126.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 188.9 ต่อปี

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.04 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 54.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -15.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 4,743.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 244.5 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 68.6 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 223.3 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 57.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 87.0 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 158.4 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว แม้ว่าจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 504.2 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 153.6 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตชิ้นส่วนปั๊มโลหะขึ้นรูปสินค้าสำหรับอุตสาหกรรม ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 18.4 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 32.4 ต่อปี

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2566 เวลา : 11:35:07
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:45 am