เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "การประชุม G7 ที่ผ่านมา ตอกย้ำความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น"


· การประชุม G7 ประจำปี 2566 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ให้น้ำหนักของเนื้อหาการประชุมไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยยังคงส่งสัญญาณให้การสนับสนุนยูเครนในด้านต่างๆ การแสดงจุดยืนที่จะลดทอนบทบาทจีนรอบด้าน รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ (Global South)

· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีของ G7 สะท้อนว่าประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะยังคงเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะกลาง-ระยะยาว มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการแบ่งห่วงโซ่การผลิตโลกชัดขึ้น เช่นเดียวกับการชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ที่ในระยะข้างหน้าสกุลเงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นสกุลเงินภูมิภาค ในขณะที่การกระจายตลาดไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้อาจเป็นโอกาสใหม่ของอาเซียนรวมถึงไทย

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ (G7 Summit 2023) ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วยผู้นำสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี แคนาดา และสหภาพยุโรป ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมให้น้ำหนักไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยมีบทสรุป ดังนี้

· G7 เดินหน้าสนับสนุนยูเครนและคว่ำบาตรรัสเซีย โดยให้การสนับสนุนยูเครนด้านงบประมาณและการทหารในการต่อสู้กับรัสเซียสำหรับปีนี้และต้นปี 2567 รวมทั้งเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่ง EU และสหราชอาณาจักรเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้า/ห้ามนำเข้าเพชรรัสเซีย สำหรับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและแคนาดาเพิ่มการคว่ำบาตรบุคคลและนิติบุคคล รวมถึงห้ามส่งออก/นำเข้าสินค้ากับรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม

· G7 ส่งสัญญาณลดทอนบทบาทจีนในเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรได้เริ่มดำเนินการในหลายมาตรการไปแล้ว อาทิ การห้ามส่งออกเทคโนโลยีชิปประมวลผลไปจีน และในการประชุมนี้กลุ่ม G7 มีแผนควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนเพิ่มเติม การวางแนวทางเพิ่มความแข็งแกร่งและขยายห่วงโซ่อุปทานใหม่ทดแทนจีน พร้อมทั้งเดินหน้ากดดันจีนด้านต่างๆ ทั้งการเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียให้ยุติการสู้รบกับยูเครน การกดดันจีนผ่านความมั่นคงทางการทหารเรื่องสิทธิเสรีภาพเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้และเสรีภาพในเรื่องช่องแคบไต้หวัน

· G7 เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้ (Global South) หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง เช่น กลุ่มละตินอเมริกา แอฟริกา ที่จีนมีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ผ่านโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) ในการให้วงเงินกู้สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นหลัก โดย G7 มีแผนเดินหน้าความสัมพันธ์ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และการขยายความร่วมมือผ่านการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางอาหาร

กลุ่ม G7 มีความสำคัญกับไทยในการเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนคิดเป็น 35% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวที่ภาคธุรกิจต้องตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3-5 ปี

1) ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะยังคงเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะกลาง-ระยะยาว สงครามยูเครน-รัสเซียมีท่าทียืดเยื้อซึ่งจะเห็นได้ว่า G7 เดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียด้านต่างๆ มากขึ้นและกดดันจีนในเรื่องนี้อย่างหนักเพื่อตัดช่องทางช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของรัสเซีย นอกจากนี้ G7 ได้พยายามสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศ Global South เพื่อเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่จีนเข้าไปสานสัมพันธ์อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีมาก่อนหน้าให้ร้าวลึกขึ้นอีก โดยจะเริ่มเห็นการถอยห่างทางเศรษฐกิจระหว่าง G7 กับจีนบ้างแล้วจากฝั่งจีนที่ลดความสัมพันธ์ทางการค้ากับ G7 เหลือเพียง 33.3% ของมูลค่าการค้ารวมของจีน ในปี 2565 (จาก 39.9% ในปี 2560) ขณะที่ฝั่ง G7 ยังไม่มีภาพเปลี่ยนไปมากนัก

 
2) ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดขึ้น ด้วย G7 ส่งสัญญาณเดินหน้ากดดันจีนแม้ในการประชุมจะไม่ได้ระบุว่าจีนเป้าหมายหลัก แต่สะท้อนความพยายามสกัดบทบาทจีนในเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ท่ามกลางแรงกดดันจาก G7 ผ่านมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนทำให้นักลงทุนในจีนและนักลงทุน G7 ย้ายฐานการผลิตจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่านไทยน่าจะได้รับอานิสงส์การลงทุนบางส่วนจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบทบาทหลักของไทย แต่ก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะมาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกับไทย สำหรับในระยะกลาง-ระยะยาวโอกาสรับเม็ดเงินลงทุนใหม่ในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนที่เล็งเห็นโอกาสจากประเทศผู้รับทุนเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายรถยนต์จีนเร่งทำตลาดแข่งขับกับค่ายรถตะวันตก ซึ่งไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมอยู่แล้วจึงมีแต้มต่อการลงทุนมากกว่าประเทศอื่น แต่สำหรับอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ ในอนาคตต้องแข่งขันด้านความพร้อมการเป็นฐานการผลิตกับอาเซียนด้วยกัน

3) ผลพวงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้มีสัญญาณหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการผลักดันเงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศมากขึ้น เริ่มจากการใช้ในกลุ่ม BRICS นำโดยรัสเซียที่หลังจากถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรได้หันมาใช้เงินหยวนทำการค้ากับจีนจนทำให้เงินหยวนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากรายงานของ SWIFT ระบุว่าในระยะเวลาเพียงปีเดียวเงินหยวนได้ขยับขึ้นมามีสัดส่วนถึง 4.5% ของการชำระเงินเพื่อการค้าและบริการระหว่างประเทศในโลก (ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเงินหยวนมีสัดส่วนที่ 1.9%) แม้สกุลเงินดอลลาร์ฯ จะยังเป็นสกุลเงินที่มีสัดส่วนการใช้ในโลกสูงที่สุดถึง 84% แต่การใช้เงินหยวนก็มีสัดส่วนการใช้มากขึ้นจากการที่จีนเองเร่งทำความตกลงการค้าในรูปเงินหยวนกับอีกหลายประเทศ ในระยะข้างหน้า หากสกุลเงินหยวนเริ่มเป็นสกุลเงินท้องถิ่นธุรกิจที่มีการค้าขายกับจีนอาจจะต้องใช้สกุลเงินหยวนในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้นไม่เฉพาะไทยแต่รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ จีนเป็นคู้ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยที่ปริมาณการค้าระหว่างกัน (ส่งออก+นำเข้า) ในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการค้ารวมของไทยกับต่างประเทศ ในขณะที่ข้อมูลปี 2565 การชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างไทยกับจีนยังเป็นสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในสัดส่วนกว่า 80% นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2566 ยังมีมติให้สมาชิกใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและต้องติดตามรายละเอียดต่อไป

4) Global South กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้กำลังเป็นที่หมายตาของทั่วโลก นับเป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามในการจับตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ในกลุ่มนี้มีทั้งประเทศเกิดใหม่ในกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึงอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีทั้งตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว โดยจีนเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ BRI มากว่าทศวรรษ และในเวลานี้กลุ่ม G7 เองก็เร่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน แม้ในเวลานี้หลายประเทศใน Global South จะยังมีเศรษฐกิจเปราะบาง ประสบปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง แต่เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2566 เวลา : 11:39:42
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:30 am