การค้า-อุตสาหกรรม
ส่องยุทธศาสตร์บีโอไอ เชื่อมต่อ SMEs ไทย สู่ซัพพลายเชนระดับโลก


ช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายด้าน ทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดโอกาสและเทรนด์การลงทุนใหม่ ๆ ที่ไทยมีโอกาสเป็นฮับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และบีซีจี เป็นต้น

บีโอไอ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ประกอบด้วย 7 หมุดหมาย และ 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ไม่ใช่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ บีโอไอได้ปรับบทบาทเดิมจากการเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ โดยจะเป็นผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวกบูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุนที่จะผนึกกำลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมสิทธิประโยชน์ในลักษณะ Whole Package เพื่อให้การส่งเสริมทั้งก่อนและหลังลงทุน รวมถึงการสนับสนุนด้านระบบนิเวศต่าง ๆ และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแบบครบวงจร เพื่อช่วงชิงนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย

ผลจากมาตรการส่งเสริมลงทุนใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน โดยมียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) กว่า 1.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่เอสเอ็มอีไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก

ตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ บีโอไอมีหลายมาตรการที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง เช่น

1. มาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับ SMEs โดยให้สิทธิประโยชน์วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 200% ของวงเงินลงทุน สำหรับกิจการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม

2. มาตรการยกระดับ SMEs ไปสู่ Smart & Sustainable Industry เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงิน 50% หรือ 100% ของเงินลงทุน

3. มาตรการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ช่วยพัฒนา SMEs ที่เป็น Local Supplier โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของค่าใช้จ่าย

4. มาตรการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ช่วยพัฒนา “ผู้ประกอบการในชุมชน” โดยเพิ่มวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ในการเข้าไปสนับสนุนโครงการในชุมชนในการพัฒนาระบบเกษตรและน้ำ ผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวชุมชน และเพิ่มเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ รายละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200 ของเงินสนับสนุน

5. มาตรการส่งเสริมให้เกิดการกระจายการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น การตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่และให้สิทธิประโยชน์พิเศษ

6. การส่งเสริมให้ SMEs เข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain ของอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ หรือ SUBCON THAILAND ซึ่งปี 2566 มีการจับคู่ธุรกิจกว่า 8,500 คู่ สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 20,000 ล้านบาท

7. การส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยบีโอไอทำงานบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เน้นการให้คำปรึกษา จัดหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thai Oversea Investment Support Center: TOISC)

“ปัจจุบัน จำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 1 ใน 3 เป็นผู้ประกอบการ SMEs และยังมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม Smart & Sustainable Industry ซึ่งในอนาคตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นให้บริษัทใหญ่ช่วยพัฒนา SMEs สิ่งเหล่านี้จะทำให้ SMEs ไทยแข็งแกร่ง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น” นฤตม์กล่าว

นอกจากนี้ บีโอไอได้จัดโครงการฝึกอบรมความรู้ด้านการส่งเสริมการลงทุน (Train the Trainers) ให้กับเจ้าหน้าที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรของบีโอไอและมีบทบาทต่อ SMEs เพื่อให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน รูปแบบสิทธิประโยชน์ ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นตัวแทนบีโอไอในการเชื่อมต่อและทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงมาตรการของบีโอไอได้ง่ายขึ้น

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริม SMEs ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2566 (มกราคม - มีนาคม 2566) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 12 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 50 เงินลงทุน 879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 160 โดยมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ Microelectronics, Optoelectronics หรือ Embedded system เงินลงทุน 240 ล้านบาท กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 75 ล้านบาท และ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ จากผลผลิตทางการเกษตร ผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุ หรือของเสียจากการเกษตร มูลค่าเงินลงทุน 59 ล้านบาท เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2566 เวลา : 20:59:42
24-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 12:23 am