การค้า-อุตสาหกรรม
กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ไฟเขียวนำเข้าส้มโอไทยไม่จำกัดพันธุ์ ล็อตแรกนำร่องส่งออกเดือนมิถุนายนนี้


นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่าน มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้ให้นโยบายการตรวจสอบผักผลไม้ก่อนการส่งออกโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร ของประเทศผู้นำเข้า นั้นๆ เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบและอำนวยความสะดวกการนำเข้าผักผลไม้ไทย ณ ประเทศผู้นำเขาปลายทาง (Pre Clearance Program) กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมประชุมกับ นาย มาร์ค กิลคีย์ South Asia-Pacific Regional Manager และ ดร.จอห์น ฟัลโค ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ประจำประเทศไทย กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 เพื่อหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะโครงการตรวจสอบผลไม้สดไทยฉายรังสีก่อนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา (Preclearance Program) ได้ขอให้ USDA ส่งเจ้าหน้าที่ Inspector เพื่อจัดทำ dose mapping สำหรับการฉายรังสี กำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาให้โดยเร็ว

 
จากการหารือดังกล่าว ทาง USDA และ APHIS จึงได้ส่ง Mr. William J. Allen (Foreign Program Specialist) เจ้าหน้าที่ Inspector มาดำเนินการวัดค่าการกระจายตัวของรังสี (Dose mapping) เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 17 เมษายน ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 Mr. William J. Allen ได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการในโครงการดังกล่าว

 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ( USDA ) ได้อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอสดด้วยวิธีการฉายรังสีเข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก โดยได้อนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากประเทศไทย แบบไม่จำกัดพันธุ์ มั่นใจว่ารสชาติ และ สีสัน ส้มโอไทยถูกใจผู้บริโภคแน่นอน ถือเป็นผลไม้สดไทยชนิดที่ 8 ที่สหรัฐฯอนุญาตให้นำเข้า จากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้า มะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด แก้วมังกร และส้มโอ และปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปจำหน่ายต่างประเทศ ได้จำนวน 30 ประเทศ โดยมีตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน และมาเลเซีย ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกส้มโอจำนวน 1.68 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 45.55 ล้านบาท

เดือนมิถุนายนนี้ส้มโอสดไทยล็อตแรกที่จะส่งออกไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาตนจะดำเนินการร่วมตรวจสอบและปิดผนึกตู้ขนส่งสินค้าด้วยวิธีการขนส่งทางอากาศ เนื่องจากเป็นการทดสอบการส่งออกจริง ล็อตแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก และนำเข้า รวมถึง กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ( USDA) และตนเองในฐานะที่ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization, NPPO) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรถือเป็นหน่วยงานอารักขาพืชที่รับผิดชอบโดยตรงของประเทศไทยแห่งเดียว
 
 
สำหรับเงื่อนไขการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกานั้นผลผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP ก่อนการส่งออกต้องทำความสะอาดและกำจัดแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อย่างเคร่งครัด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วม “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออกกับกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ต้องผ่านฉายรังสีที่ศูนย์ฉายรังสีคลอง 5 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะร่วมตรวจสอบกระบวนการฉายรังสีกับเจ้าหน้าที่ APHIS กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา USDA ที่มาประจำการ ณ ประเทศ และทุกล็อตที่ส่งออกและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อการอนุญาตนำเข้าส้มโอจากไทยต้องผ่านการฉายรังสีดังกล่าวก่อนการส่งออก

 
นายปัญญา พุกสุ่น ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีส้มโอมากกว่า 30 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทับทิมสยาม เปลือกผลบาง เนื้อนิ่มมีสีชมพูเข้มหรือสีแดงเข้มคล้ายทับทิม มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานไม่มีรสขมเจือปน พันธุ์ขาวแตงกวา ผนังกลีบสีขาว เปลือกบาง รสชาติหวานฉ่ำ และ พันธุ์ทองดี ผิวเรียบ ผนังกลีบสีชมพู รสชาติหวาน ฉ่ำน้ำ ซึ่งส้มโอไทยแต่ละพันธุ์มีรสชาติและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากส้มโอจากประเทศอื่น ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลายาวนาน จึงเหมาะสมต่อการขนส่งทั้งทางเรือ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด ผู้ที่ต้องการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาสามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579 3496 และ 0- 2940 6670 ต่อ 142

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2566 เวลา : 21:33:59
24-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 12:21 am