นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นของกรมปศุสัตว์ ในรอบปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงเพื่อพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 โครงการฯ มีการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาทิ สินค้าข้าว สินค้าไม้ผล สินค้าผ้าไหม สินค้าปศุสัตว์
ในการนี้ จากการติดตามโครงการฯ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ของผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่ประดู่หางดำ) โดยศูนย์ประเมินผล ของ สศก. (รอบตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) พบว่า กรมปศุสัตว์ ได้มีการส่งเสริมเกษตรกรจำนวน 4 กลุ่ม ๆ ละ 11 ราย รวม 44 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และยะลา ครบตามเป้าหมาย นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง อำเภอสันทราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า เริ่มมีการรวมกลุ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 25 ราย ต่อมาสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ด้านมาตรฐานฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ และการแปรรูป และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาสายพันธุ์ไก่ประดู่หางดำให้กลุ่มเกษตรกรอีกด้วย
ผลการติดตามหลังจากที่ทางกลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการปี 2565 ที่ทางกรมปศุสัตว์ ได้เข้ามาดำเนินการถ่ายทอดความรู้หลักสูตร “การเลี้ยงไก่พื้นเมืองพื้นถิ่น” ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าอัตลักษณ์ ให้สามารถมีศักยภาพเพียงพอต่อการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยเกษตรกรนิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ไก่สดแช่แข็ง ไก่นึ่งสมุนไพร ไก่ย่าง และไส้อั่วไก่ เป็นต้น สามารถสร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มรวมกว่า 700,000 บาทต่อเดือน หรือ 8,400,000 บาท/ปี และคาดว่า ปี 2566 หลังจากกลุ่มเกษตรกรนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดจากโครงการ กลุ่มเกษตรกรจะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 760,000 บาทต่อเดือน หรือรวม 9,120,000 บาท/ปี ซึ่งยอดขายที่เกิดขึ้นนั้นมีส่วนแบ่งของผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 80% ส่วนที่เหลือเป็นผู้บริโภคจากพื้นที่อื่น ๆ
สำหรับการขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไก่พื้นเมืองไทย ประดู่หางดำเชียงใหม่ ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียน โดยคาดว่าจะสามารถยื่นได้ในปี 2567 ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีกระบวนการดูแลแม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำที่มีเทคนิคเฉพาะและได้มาตรฐาน โดยกลุ่มเกษตรกรจะให้อาหารและเสริมด้วยหญ้าเนเปียเพื่อลดความเสี่ยงของอัตราการฟักไข่ที่ต่ำลง แม่พันธุ์ไม่ควรมีไก่เกิน 2 ตัวต่อตารางเมตร ในส่วนของไก่แม่พันธุ์หลังจากที่มีการออกไข่ฟองแรก เมื่อครบ 6 เดือน จะมีการทำพันธุ์ทดแทน และพอครบ 1 ปีจะทำการปลดระวาง โดยหลังจากไก่แม่พันธุ์ออกไข่ จะนำไปผสมโดยมีอัตราการผสมติดที่ 90% หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ผสมติดไปเก็บไว้ในตู้ฟักเป็นเวลา 18 วัน และจะย้ายมาจัดเก็บไว้ในตู้เกิดอีก 3 วัน จนลูกไก่ฟักออกมาจากไข่ซึ่งมีอัตราการฟักอยู่ที่ 77% โดยหลังจากฟักออกมาจากไข่ จะนำลูกไก่ไปขุนในเล้าอีก 60 – 65 วัน ให้มีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ด้านเทคนิคในการขุนไก่ของกลุ่มเกษตรกร จะเน้นให้อาหารปริมาณน้อย ๆ แต่ต้องให้บ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน ด้วยการแขวนถาดอาหารให้อยู่สูงระดับหลังไก่ เพื่อไม่ให้ไก่คุ้ยดินตกลงไปในถาดอาหาร และควรมีระยะห่างในการเลี้ยงอยู่ที่ 8 - 10 ตัวต่อตารางเมตรเพื่อลดความเครียดของไก่ สำหรับท่านที่สนใจเทคนิคการเลี้ยงไก่ หรือสนใจผลิตภัณฑ์จากไก่ประดู่หางดำ สามารถสอบถามได้ที่คุณซิมโอน ปัญญา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่พื้นมือง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โทร 08 1796 3702
ข่าวเด่น