เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกเดือนเม.ย. ติดลบ 7.6% Krungthai Compass ประเมินอุปสงค์ต่อสินค้าโลกยังอ่อนแอ


 
ส่งออกเดือน เม.ย. หดตัว 7.6%YoY ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัว ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ -7.3% และดุลการค้ากลับมาขาดดุล 1,471.7 ล้านดอลลาร์
 
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้ภาพรวมการส่งออกจะทยอยฟื้นตัว แต่ผู้ส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไปสู่ภาคบริการต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจึงสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อการขายเท่านั้น สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลดลงในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังเปราะบางสอดคล้องกับการส่งออกในเอเชียส่วนใหญ่ซึ่งต่างหดตัวต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกเดือนเมษายน 2566 หดตัว 7.6%
 
 
มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. อยู่ที่ 21,723.2 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 7.6%YoY มีอัตราขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เป็นการหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -2.0% จากการหดตัวต่อเนื่องของหมวดอุตสาหกรรม และการกลับมาหดตัวของหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร ตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ดีสินค้าหมวดเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้กลับมาเติบโต 79.2% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ติดลบ 9.3%YoY ทั้งนี้ การส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 5.2% 
 
 
ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัวต่อเนื่อง 
 
 
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ -11.2%YoY หดตัวมากขึ้นเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว -5.9%YoY จากการหดตัวของสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน 
(-23.5%) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-19%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-11.5%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-27%) และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-27.1%) เป็นต้น อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+3.4%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+55.0%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+107.8%) และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง (28.2%) เป็นต้น
 
 
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ +8.2%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 4.2% จากสินค้าหมวดเกษตรที่ขยายตัวสูงขึ้นเป็น 23..8% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว -12.0% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้ (+142.8%) ซึ่งทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ข้าว (+3.5%) เครื่องดื่ม (+2.4%) และไก่สด/แช่เย็น/แช่แข็ง (+38.9%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-44.1%) ยางพารา (-40.2%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-17.1%) อาหารสัตว์เลี้ยง (-33.6%)และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-34.3%) เป็นต้น
 
 
 
ด้านการส่งออกรายตลาดส่วนใหญ่กลับมาหดตัว 
 
• สหรัฐฯ : กลับมาหดตัวที่ -9.6%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ขยายตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 5.2%)  
 
 
• จีน : กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน ที่ 23.0%YoY โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง กุ้งสด/แช่เย็น/แช่แข็ง และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติด เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกขยายตัว 0.7%)  
 
 
• ญี่ปุ่น : กลับมาหดตัวที่ -8.1%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 2.0%)  
 
 
• EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -8.2%YoY โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 3.6%)  
 
 
• ASEAN5 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -17.7%YoY โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และยางพารา เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น (ส่งออก 4 เดือนแรกหดตัว 6.2%) 
 
 
 
Implication:
 
• Krungthai COMPASS มองว่าผู้ส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ต่อสินค้าที่ยังอ่อนแอ แม้ทิศทางการส่งออกโดยภาพรวมมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าไปจีนที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 11 เดือน จากอุปสงค์ภายในประเทศสอดคล้องกับดัชนียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยในเดือน เม.ย. ที่ 18.4%YoY แต่ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายประเทศจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไปสู่ภาคบริการต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจึงมีแนวโน้มสต๊อกสินค้าเพื่อให้เพียงพอต่อการขายเท่านั้น สะท้อนจากเครื่องชี้กิจกรรมการผลิต Flash Manufacturing PMI ล่าสุดที่ในสหรัฐฯ และยุโรป ที่หดตัว ส่วนหนึ่งจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง ส่งผลให้ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังเปราะบางสอดคล้องกับการส่งออกในเอเชียส่วนใหญ่ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยดังกล่าว Krungthai COMPASS จึงคงมุมมองการส่งออกปีนี้ว่ามีแนวโน้มติดลบที่ 1.6%
 
 
 
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 พ.ค. 2566 เวลา : 10:55:58
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:37 am