
คณะนิเทศ นิด้า เผยผลวิจัย – คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครบรอบ 1 ปี นับจากวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่นายชัชชาติได้เข้ารับหนังสือรับรองการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากกลุ่มตัวอย่าง 200 คน พบว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนเฉลี่ย ความทุ่มเทในการทำงานและมีความเป็นมืออาชีพในการเป็นผู้ว่า กทม. มากที่สุด 4.27 จากคะแนนเต็ม ส่วนปัญหาที่ต้องการร้องเรียนให้มีการแก้ไข 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาการจราจร ร้อยละ 20% การจัดการพื้นที่ทางเท้า ร้อยละ 16% และ ปัญหาขยะ ร้อยละ 12%
ความคิดเห็นที่มีต่อ ผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทุ่มเทในการทำงานและมีความเป็นมืออาชีพในการเป็นผู้ว่า กทม. ค่าเฉลี่ย 4.27
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีภาพลักษณ์และการวางตัวที่ดี ค่าเฉลี่ย 4.10
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีทักษะ ความรู้เฉพาะด้าน เช่น ความรู้ด้านการบริหารราชการ ความรู้ด้านวิศวกรความรู้ด้านเทคโนโลยี ค่าเฉลี่ย 4.05
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความน่าเชื่อถือเมื่อปรากฎตัวผ่านสื่อ ค่าเฉลี่ย 3.91
• ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของประชาชน ค่าเฉลี่ย 3.84
9 ปัญหาที่ต้องการร้องเรียนให้มีการแก้ไข
• อันดับ 1 ปัญหาการจราจร 20%
• อันดับ 2 การจัดการพื้นที่ทางเท้า 16%
• อันดับ 3 ปัญหาขยะ 12%
• อันดับ 4 พื้นผิวถนน 11.5%
• อันดับ 5 สายไฟและสายสื่อสาร 9%
• อันดับ 6 ความปลอดภัย 8.5%
• อันดับ 7 เตรียมรับมือน้ำท่วม 7%
• อันดับ 8 แสงสว่าง 3.5%
• อันดับ 9 อื่นๆ เช่น สัตว์จรจัด เสียงดัง สิ่งกีดขวาง 1.5%
รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า จากที่ผู้ว่าชัชชาติ ได้เคยรณรงค์หาเสียงไว้ 100 นโยบาย เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน 9 ด้าน ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เวลาผ่านไป 1 ปี คือ 365 วัน ตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาจราจร การเดินทาง และปัญหาการจัดการพื้นที่ทางเท้า ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหลายฝ่าย ทั้งการเคารพกฎหมายของประชาชน หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงคมนาคม ผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนการใช้ชีวิตของคนกรุงที่ต้องพบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันนั่นคือ การเดินทาง ทั้งทางรถ หรือทางเท้า และยังคงความคาดหวังต่อการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม ตามที่ท่านผู้ว่าได้รณรงค์ไว้
ทั้งนี้ผลการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในสื่อสังคมออนไลน์ และการยอมรับเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อความตั้งใจใช้งานทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue)" โดย นางสาวเอกสุณี ครุธวีร์ และมี รศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้สนใจ สามารถติดตามงานวิจัยอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.gscm.nida.ac.th และ Facebook นิเทศ@นิด้า
ข่าวเด่น