“หมูเถื่อน” ระบาดทั่วประเทศไทยมานานกว่า 1 ปี หลังการประกาศพบโรคระบาด ASF เมื่อต้นปี 2565 จนถึงวันนี้ จับของกลางได้เป็นล้านๆ กิโลกรัม แต่ยังไม่สามารถจับ “หัวหน้าขบวนการ” ตัวจริง โกงชาติ ทำลายสุขภาพที่ดีของคนไทยได้แม้แต่คนเดียว ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วตามข่าวมีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่พบซากสุกรเถื่อนจำนวน 420,577 กิโลกรัม ในห้องเย็นของบริษัท อนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จำกัด ในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่สามารถแสดงเอกสารแหล่งที่มาได้ เข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผลตกหนักอยู่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่ต้องหวานอมขมกลืนจากราคาที่ไม่เป็นธรรม เพราะหมูเถื่อนมีต้นทุนเฉลี่ย 40-50 บาทต่อกิโลกรัม (จากบราซิล) และ 50-60 บาทต่อกิโลกรัม (จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป)
วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยพอจะหายใจหายคอได้บ้าง เพราะ “หมูเถื่อน” โดนกวาดล้างไปไม่น้อย แต่ก็ยังคงมีหลบอยู่ในไทยหลายแห่ง เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ที่คาดว่ามีตู้ตกค้างที่อาจมีหมูเถื่อนอีก 100 ตู้ รวมถึงห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ตลอดจนการลักลอบนำเข้าผ่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เข้ามาทางจังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว อุบลราชธานี และสงขลา เมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ตำรวจ หรือ ทหาร จับกุมของกลางและผู้กระทำผิดได้ ก็ต้องฟ้องร้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเจ้าภาพหลักหนีไม่พ้นกรมศุลกากร เพราะเป็นการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย แต่ผ่านไป 1 ปี เพิ่งมีการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม DSI ยังไม่ได้ออกมาตอบรับว่าจะรับเรื่อง “หมูเถื่อน” จากกรมศุลกากร เป็นคดีพิเศษหรือไม่
หากพิจารณาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี “หมูเถื่อน” อย่างกรมศุลกากร เพราะเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แต่ไม่มีการฟ้องร้องผู้กระทำผิดภายใต้กฎหมายของกรมฯ มีเพียงการดำเนินการฟ้องร้องภายใต้ พระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีโทษเบากว่า พ.ร.บ.กรมศุลกากร มาก...เรื่องนี้คงต้องหาคำตอบกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาในการปราบ “หมูเถื่อน” อย่างจริงจังได้อีก คือ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้า และกรมการค้าภายใน มีอำนาจในการตรวจสอบสต๊อกสินค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้า รวมถึงกรมปศุสัตว์ และ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ควบคุมดูแลการนำเข้าซากสัตว์ การตรวจสอบโรคระบาด และกรมประมงต้องร่วมตรวจสอบ กรณีมีการสำแดงเท็จ ว่า หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าเป็นปลา ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีส่วนสนับสนุนการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย
ผู้เลี้ยงหมู ได้แต่หวังว่าภาครัฐจะทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อปราบปราม “ขบวนการหมูเถื่อน” อย่างจริงจัง และนำตัว “หัวหน้าขบวนการ” มาลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุดให้ได้ เนื่องจากหมูไทยต้องโดนหมูเถื่อนทำร้ายด้านราคา กดให้หมูไทยราคาตกต่ำต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ผู้เลี้ยงหมูไทยยังขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ราคาเฉลี่ยที่ 74-79 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 96.93 บาท แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ และโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุน ทำให้เกษตรกรต้องแบกขาดทุนสะสมมามากกว่า 4 เดือนแล้ว
แม้ว่าล่าสุด “หมูเถื่อน” ล็อตใหญ่จำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม จะถูกจับกุมได้ที่ท่าเรือแหลมฉบังก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หมูเถื่อนหมดไปจากประเทศไทยแล้ว เพราะราคาเนื้อหมูในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าหมูเถื่อนยังคงวนเวียนขายอยู่ในตลาด และภาครัฐจำเป็นต้องเข้าตรวจสอบต่อเนื่อง เช่น ห้องเย็น และตู้สินค้าแบบปรับความเย็นที่ยังตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะอาจจะเป็นที่ซุกซ่อนสินค้าผิดกฎหมาย หรือ สำแดงเท็จเล็ดลอดออกจากท่าเรือไปได้ จึงจำเป็นต้องประสานเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมศุลกากร ภายใต้กระทรวงการคลัง ต้องใช้อำนาจสั่งการให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดด้วยความโปรงใส เพื่อให้ผลผลิตหมูไทยที่มีความปลอดภัยมากกว่าหมูเถื่อน ได้รับความยุติธรรมจากราคาขายที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเสียที./
สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ
ข่าวเด่น