เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : เตรียมจับตา "การประชุมเฟดเดือน มิ.ย.นี้" ชี้ชะตา Bitcoin


 

หากส่องไทม์ไลน์การขึ้นดอกเบี้ยของที่ผ่านมา นับว่าเฟดได้ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 10 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค. ปี 2565 ถึงเดือน พ.ค. ในปีนี้ที่เป็นครั้งที่ 10 คิดโดยรวมแล้ว เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 5.00% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 16 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้ลดลงอยู่ที่ระดับ 2% แต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในเดือนที่แล้วนั้น เฟดได้เปลี่ยนท่าทีด้วยการส่งสัญญาณว่าอาจจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้เงินเฟ้อ หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CPI) จะยังอยู่ที่ระดับ 5% อยู่

 

โดย เจอโรม พาวเวล ประธานของเฟด ได้มีการแถลงข่าวหลังการประกาศมติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งที่ 10 ว่า จะพิจารณาว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางลบและบวกอย่างไร ซึ่งเป็นการยกเลิกประโยคที่เคยระบุในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า เฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดเงินเฟ้อเหลือที่ระดับ 2% โดยเบื้องหลังของเรื่องนี้ เป็นเพราะเฟดเริ่มมีความกังวลว่าการดำเนินนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อๆไป จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ช่วง Recession หรือสภาวะถดถอยอย่างรุนแรง จากทั้งปัญหาธนาคารที่เกิดขึ้นทั้ง Silicon Valley Bank และ First Republic ได้ล่มสลายไปจากเรื่องของการแบกดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ไหว ที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติทางธนาคารได้หากยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

 

ซึ่งที่ผ่านมาจากสัญญาณที่ดีขึ้นดังกล่าว ก็ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกมีบรรยากาศที่ดีขึ้น หรือเรียกได้ว่าตลาดมีการทรงตัวที่ดี มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นรับข่าวดีจากสัญญาณนำหน้าไปก่อนที่การประชุมของเฟด ในการพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ในวันที่ 13-14 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ แต่ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ต่างมีความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้ออยู่ ที่หลังจากการเปิดเผยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง หรือข้อมูลที่ทางเฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% แต่หากเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือน พ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% ส่วนอัตราการว่างงานของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% เมื่อเทียบกับ 3.4% ในเดือนเมษายน 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจากข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐดังกล่าว ทำให้ราคาของ Bitcoin ไต่ขึ้นลงอยู่ที่ระดับราคา 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ/BTC ซึ่งเป็นที่น่าหวาดเสียวว่า Bitcoin จะเลือกทางไหนดี ด้วยปัจจัยที่ยังมีส่วนกดดันอยู่ว่า เฟดจะปล่อยเรื่องของเงินเฟ้อไปได้จริงเหรอ? เพราะเรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ดี และดูท่าว่าสภาวะเงินเฟ้อจะยังไม่คลี่คลายไปง่ายๆแล้วด้วย ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้ตลาดทุน ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง Bitcoin และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีโดยรวมเกิดสภาวะกราฟในลักษณะที่วิ่งออกข้างแบบ Sideway การเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าวเกี่ยวกับเฟดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และก็มีในบางวันที่ราคาของ Bitcoin ลากลงไปที่ราคา 26,000 ดอลลาร์สหรัฐให้หวาดเสียวเล่นๆด้วย

 

และหากวิเคราะห์กับความคิดเห็นของทางนักวิเคราะห์ของ JP Morgan ว่า Bitcoin และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซียังคงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้ราคามีการปรับฐานอีกในอนาคต จากทั้งความเสี่ยงของวิกฤติทางธนาคารที่กำลังมีปัญหาให้เห็นในฝั่งของตะวันตกดังกล่าว และ Ecosystem ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่คงที่

 

 การประชุมของเฟดในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ว่าสรุปแล้วจะคงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิม หรือกลับขึ้นมาขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 นั้นจะเป็นตัวชี้ชะตา Bitcoin กลายๆว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น ราคาของ Bitcoin ในช่วงนี้ก็อาจมีแนวโน้มที่จะยังเลือกทางไม่ได้จนกว่าท่าทีที่แน่ชัดของเฟดจะปรากฏขึ้น

 


LastUpdate 05/06/2566 10:37:18 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:51 am