เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : "เงินบาท" เผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง กดดันค่าเงินอ่อนลง


เมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ในที่สุด การเจรจาของเรื่องการขยายเพดานหนี้ที่ยืดเยื้อกันไปมา ในเบื้องหลังของเกมการเมืองระหว่างพรรคเดโมแครตจากฝั่งรัฐบาล และพรรครีพับลิกันฝั่งรัฐสภาก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และ นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้บรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ มีการผลักดันร่างกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้สู่สภาคองเกรส และทางวุฒิสภาสหรัฐก็ผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นการจบปัญหาของการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับเหล่านักลงทุน และผ่อนคลายโลกของเศรษฐกิจให้บรรยากาศกลับมาดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ปิดฉากความเสียหายของเศรษฐกิจสหรัฐถึงขนาดที่ โจ ไบเดน ออกมายกย่องว่าข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจและชาวอเมริกันเลยทีเดียว  จึงไม่แปลกที่ทั้งหุ้นสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงของเรื่องเพดานหนี้มากดดันต่อไป แต่เมื่อตลาดการลงทุนมันเชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก ทำให้กลายเป็นว่า นี้จะเป็นปัยจัยหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทไทยเสียเองให้อ่อนค่าลง

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ในเรื่องของค่าเงินระหว่างสหรัฐ และค่าเงินในฟากของเอเชียมีความผกผันกัน เมื่อใดที่ค่าเงินของฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีการแข็งค่าขึ้น ก็ทำให้ค่าเงินของอีกฝั่งมีการอ่อนค่าลงไป ด้วยเรื่องของปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปพักเอาไว้ในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าคุ้มกำไรมากกว่า อย่างเช่นในช่วงที่เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นครั้งที่ 10 หรือระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ก็ทำให้นักลงทุนต่างโยกย้ายเงินมาพักไว้ที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องด้วยผลตอบแทนทางดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงเป็นเหตุที่ค่าเงินบาทของเรา รวมถึงเงินสกุลหยวนของจีนมีการอ่อนค่าลงไปดังที่ผ่านมา

หากสหรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ตามที่เป็นกังวลก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าจะ กระทบต่อตลาดเงินสหรัฐและตลาดการเงินทั่วโลกอย่างยิ่งยวด แต่การที่สหรัฐได้มีการขยายเพดานหนี้ได้สำเร็จนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการเพิ่มตัวแปรด้านลบให้กับเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น และยังมีส่วนกดดันค่าเงินบาทของไทยอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ไทยจึงอาจยังต้องเผชิญกับความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนต่อไป 

และจากการให้ข้อมูลของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้กล่าวว่าเนื่องด้วยไทยนั้นมีการพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างมาก แล้วเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้นั้นก็มีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ดีไม่เท่าที่ควร ค่าเงินหยวนอ่อน ซึ่งเงินหยวนก็เป็นสกุลเงินหลักของเศรษฐกิจในแทบเอเชีย จึงเป็นปัจจัยที่ดึงเงินบาทให้อ่อนค่าต่ำลงไปตามๆกัน 

ซึ่งในตอนนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หนี้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนกำลังเป็นปัญหาทางการคลังระยะยาวของจีน ซึ่งในณะนี้ท้องถิ่นจีนพุ่งไปที่ 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 760 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่ใช่ตัวเลขหนี้ที่สิ้นสุดอีกด้วย เพราะยังมีปัญหาซ่อนเร้นในมณฑลอื่นๆตามภูมิภาคของจีนอีกเยอะเลยทีเดียว  และถึงแม้จีนจะไม่เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เหมือนอย่างสหรัฐ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีเงินค้ำประกันสำรองไว้ แต่อาจมีปัญหาในเรื่องของการปลดล็อคที่จะนำงบประมาณมาใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนประชากรที่หดตัวลง และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เป็นปัจจัยที่นักลงทุนอาจมีระดับความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น

ในช่วงระยะสั้น ทางรัฐบาลกลางของจีนอาจจะสามารถคงเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้ด้วยการปล่อยกู้ให้กับทางรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำไปชำระเงินกู้ที่ครบกำหนด แต่ในระยะยาวอาจต้องจับตาดูต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงต่อการดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศในระดับค่อนข้างเป็นที่น่ากังวล จึงเป็นสิ่งที่คอยฉุดรั้งให้สกุลเงินหยวนมีการอ่อนค่าลงอยู่ในปัจจุบันนี้ (ปัจจุบันเงินหยวนอยู่ที่ระดับ 4.91 บาท/หยวน) และก็เป็นผลกระทบใหญ่ที่ทำให้ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงอยู่


 

LastUpdate 05/06/2566 13:41:56 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:38 am