เป็นเวลามากกว่า 1 ปี ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยต้องฝ่าฟันกับ “ห่วงโซ่ผลกระทบ” (Domino Effect) หลังรัฐบาลประกาศพบโรคระบาด ASF ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เริ่มจากผลผลผลิตหายไปจากระบบ 50% ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จาก 65-70 บาทต่อกิโลกรัม เป็นสูงสุดที่ 110-120 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกตลาดอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) รวมถึงเกษตรกรต้องมีภาระปัจจัยการป้องกันโรคระบาดเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาผลผลิตหมูที่มีค่าไว้ไม่ให้ติดโรคระบาด นั่นหมายถึงหลักประกันความปลอดภัยทางอาหารสำหรับคนไทยทุกคน
ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นและลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีด ปรับราคาขึ้น 30% สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซ้ำเติมห่วงโซ่ปศุสัตว์ ต้องมีแบกภาระต้นทุนสูงมาต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคเฉลี่ย 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม แม้ขณะนี้ราคาจะปรับลงบ้างแต่ยังคงยืนในระดับสูงเฉลี่ย 12.30-12.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งภาครัฐควรพิจารณาทบทวนอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เกิดความเป็นธรรมกับภาคปศุสัตว์ด้วย
ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ “หมูเถื่อน” ที่มีการลักลอบนำเข้ามาแรมปีแต่ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นและปราบปรามให้หมดสิ้นได้ เนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเข้ามาค้าขายกันอย่างเสรีในไทยช่วง 1 ปี ทีผ่านมา เหตุใดหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยหมูเถื่อนเข้ามาทำลายอาชีพเกษตรกรไทย ทำให้ราคาตลาดบิดเบือนกดราคาหมูไทยให้ตกต่ำ ทั้งที่ราคาควรเป็นไปตามกลไกตลาดและต้นทุนการผลิต เพราะหมูจากประเทศต้นทาง เช่น บราซิล เม็กซิโก สเปน เนเธอร์แลนด์ (แหล่งกำเนิดสินค้าจากหมูที่ถูกจับกุมได้) โดยเปรียบเทียบราคาหน้าฟาร์มจากประเทศดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40-60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูไทยราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ที่สำคัญเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเมืองไทยแล้วยังขายได้ในราคาต่ำมากเฉลี่ย 135-140 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูไทยตามต้นทุนขายที่ 200 บาท
“หมูเถื่อน” มากกว่า 5 ล้านกิโลกรัม ถูกจับกุมได้ในช่วงเวลา 1 ปี 5 เดือน ( มกราคม 2565 - พฤษภาคม 2566) โดยเฉพาะล็อตใหญ่ที่สุด 4.5 ล้านกิโลกรัม ที่เพิ่งจับได้คาท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ในตู้สินค้าตกค้าง 161 ตู้ สะท้อนให้เห็นว่าการปราบปรามของหน่วยงานภาครัฐยังไม่รัดกุมพอที่จะสกัดการนำเข้าจากต้นทางคือ “ท่าเรือ” ได้ ช่องว่างเหล่านี้ไม่เพียงเปิดช่องทางให้หมูเถื่อนเดินเท้าเข้ามาบ่อนทำลาย “หมูไทย” แต่ยังสะท้อนถึงความไม่โปรงใสในระบบตรวจสอบและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สังคมตั้งคำถามและจับตาว่ามีการเชื่อมโยงไปถึงการ “รับส่วย” จากขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายหรือไม่ และการเล็ดลอดการตรวจสอบด้วยการสำแดงเท็จ ตอกย้ำจุดบกพร่องของระบบตรวจสอบภาครัฐไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของขบวนการโกงชาติ
ถึงวันนี้ แม้ว่าสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะรับรู้ว่าหมูเถื่อนมีปริมาณลดลง แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าหมูเถื่อนหมดไปจากตลาด เพราะราคาหมูหน้าฟาร์มยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ผลผลิตหมูไทยเริ่มทยอยออกมาและความต้องการเพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาในตลาดกลับสวนทางลดลงจนทำให้เกษตรกรขาดทุนสะสมต่อเนื่องมา 5 เดือนแล้ว จากราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ทยอยลดลงเรื่อยตั้งแต่ต้นปี 2566 จนต่ำสุดเหลือ 70 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพิ่งจะมีการปรับเพิ่มราคาช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 76-81 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนเดือนมิถุนายน สมาคมฯคาดการณ์ไว้ที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม
เห็นได้ชัดว่า “หมูเถื่อน” คือ ภัยร้ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และเป็นภัยร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจึงต้องปฏิบัติการ “ล้อมจับ” อย่างเคร่งครัดและรัดกุม จากการบีบให้ออกจากที่ซ่อน เป็นการจับให้มั่น คั้นเอาความจริงให้ถึง “ต้นตอหัวหน้าขบวนการ” เพื่อนำตัวมาดำเนินการตามกฎหมายรับโทษขั้นสุงสุด รวมถึงเครือข่ายทั้งหมดและเจ้าหน้าที่ “นอกรีต” จนถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินไปสู่การยึดทรัพย์ให้หมดทางทำกินแบบทุจริต คืนความเป็นธรรมทางการค้าให้กลับเข้าสู่กลไกตลาด และอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
ปราบดา มหากุศล นักวิจัยสินค้าเกษตร
ข่าวเด่น