.jpg)
ยังจำได้ว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เห็นข่าวเรื่องการค้นพบสุสานโบราณของคณะนักโบราณคดีจีน ที่มณฑล เหอหนาน มีอายุเก่าแก่ถึง 1,400 ปี พร้อมด้วย “เตียงหินอ่อนสีขาว” ซึ่งแกะสลักภาพวิถีชีวิตประจำวันของเจ้าของสุสาน เผยให้เห็นภาพชีวิต ของผู้คนในยุคนั้นอย่างน่าตื่นตา
ข้อสำคัญยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวทางศาสนาของชาวเปอร์เซียโบราณและภาพดอกบัวแบบพุทธศาสนาในยุคนั้นอีกด้วย นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษา วัฒนธรรม ความเจริญในการช่าง เทคนิคการแกะสลัก โบราณคดี ศิลปะตลอดจนวิวัฒนาการของมนุษย์ตลอดเส้นทางอันยาวนานอีกด้วย
ไม่เพียงหินจะช่วยไขปริศนายุคสมัย บอกเล่าถึงความเจริญ และวิถีการดำรงอยู่ของคนยุคก่อนแล้ว
“หิน” ยังมีที่มาที่น่าสนใจ จากความลึกแต่ไม่ลับซึ่งวิทยาศาสตร์อธิบายให้เข้าใจได้
ไม่ต้องทะลุมิติไปหาที่ไหนเพราะมีอยู่ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถมคลังความรู้ SciMath ของ สสวท. ยังมี e-poster เรื่อง กระบวนการเกิดหินและวัฏจักรหิน อธิบายกระบวนการเกิดหินแต่ประเภท และกระบวนการเปลี่ยนแปลงของหินในวัฏจักรหิน ใช้เป็นสื่อเสริมช่วยคุณครูในชั้นเรียน
พร้อมกันนี้ยังมี วีดิทัศน์เรื่อง กระบวนการเกิดหินและวัฏจักรหิน อธิบายในรูปแบบแอนิเมชั่น สดใสเข้าใจง่ายเป็นสื่อเสริมในชั้นเรียนหรือใช้ทบทวนเนื้อหาที่บ้านก็ได้
ว่าแล้วก็ทะลุความลึกแต่ไม่ลับสู่ใต้พิภพโลก ทำความรู้จัก “แมกม่า” ซึ่งเป็นสารที่มีสถานะเป็นของเหลวและมีอุณหภูมิสูงมาก แต่เนื่องจากบริเวณใต้ผิวโลกมีความดันและอุณหภูมิสูงจึงพยายามดันแมกม่าให้เคลื่อนตัวขึ้นมาบนผิวโลก ปะทุเป็นภูเขาไฟระเบิด
เมื่อแมกม่าเคลื่อนตัวขึ้นมาใกล้ผิวโลกแล้ว จะเกิดการเย็นตัวและตกผลึกอย่างช้า ๆ ทำให้ผลึกแร่ชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่ เกิดเป็นหินอัคนีแทรกซอนที่มีเนื้อหยาบ ซึ่งมีหลายประเภททั้ง หินแกรนิต หินไดออไรต์ หินบะซอลต์ หิมพัมมิซ เป็นต้น
แล้วไปรู้จักกับ “หินแปร” ชื่อจำง่ายไม่ยุ่งยากที่เกิดจากการแปรสภาพของหินทุกประเภทโดยความร้อนหรือ ความดันใต้ผิวโลก และอาจเกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นใต้ผิวโลกก็ได้ ได้แก่ หินไนส์ หินชนวน และ หินอ่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราเล่าสู่กันฟังตั้งแต่แรกนั่นเอง
e-poster สร้างความเข้าใจชัดเจนตั้งแต่ การหลอมเหลว การเย็นตัวและตกผลึกของแมกม่า การเย็นตัวและตกผลึกของลาวา การเย็นตัวและแข็งตัวของลาวา การผุพังและการเคลื่อนที่ของตะกอน การสะสมตัวของตะกอนและ การเชื่อมประสานตะกอนและการตกผลึกหรือตกตะกอนของสารบางชนิด รวมถึงการแปรสภาพเป็นหินต่าง ๆ
คุณครูอาจให้น้องๆ ค้นคว้าเพิ่มเติมว่าหินแต่ละประเภทนำไปใช้ประโยชน์ด้านใด หรือมีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวัน อย่างไรบ้าง เช่น ครกหิน หินลับมีด โม่หิน ม้านั่งหินฯ แต่ละชนิดน้อง ๆ เคยรู้จักหรือใช้งานมาก่อนหรือไม่ เป็นต้น
ข่าวเด่น