กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แสดงออกเชิงสัญลักษณ์.. ตั้งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ส่งเสริมเกษตรกรรังสรรค์ประเทศให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพิ่มออกซิเจนและโอโซนช่วยให้อากาศสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมผลักดันประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตระดับโลก โอกาสนี้ มอบวงเงินสินเชื่อให้เกษตรกร 5 ราย จากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ยอดรวม 623,885 บาท และมอบประกาศเกียรติคุณแก่ธนาคารต้นไม้ 3 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ LESS มั่นใจ!! โลกใบนี้จะสวยงามและน่าอยู่ หากเราร่วมแรงร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า สร้างความมั่นคงให้ลูกหลาน อนาคตได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ยาวๆ พร้อมยึดเจตคติ..มีต้นไม้..มีป่าไม้..มีเรา..จรรโลงโลกให้น่าอยู่
นายกำแหง กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมีเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงได้นำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งกรมฯ และ ธ.ก.ส. เป็นพันธมิตรที่มีเจตจำนงร่วมกันในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่การประกอบสัมมาอาชีพ โดยทั้ง 2 หน่วยงาน มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับผืนป่า ไม้ยืนต้น และการรักษาธรรมชาติ ผ่านโครงการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) ของ ธ.ก.ส.
ทั้ง 2 โครงการมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างสรรค์ประเทศให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มออกซิเจนและโอโซนช่วยให้อากาศสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการปลูกไม้ยืนต้น และปลูกป่า ส่วนผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ เช่น โครงการหลักประกันทางธุรกิจของกรมฯ จะเน้นที่การส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินกรรมสิทธิของตนเอง และเมื่อต้องการใช้เงินเพื่อต่อยอดทำธุรกิจหรือดำรงชีวิตประจำวัน ก็สามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งไม้ยืนต้นที่ปลูกก็ยังคงอยู่บนพื้นที่ของตนเอง เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นไปต่อยอดสร้างรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ซื้อไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกของตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ และสอดรับกับกระแสของโลกอนาคต
รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมฯ ธ.ก.ส. และกรรมการธนาคารต้นไม้ ได้ร่วมกันตรวจวัดและประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ขอใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยใช้ Application Tree Bank และได้ร่วมกันมอบวงเงินแก่เกษตรกรที่นำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินของตนเองมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 5 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 623,885 บาท โดยต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย มะฮอกกานี สะเดา ตาลโตนด กระท้อน มะม่วงป่า จำปีป่า สัก จามจุรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 403 ต้น ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเกษตรกรทั้ง 5 ราย ต่างรู้สึกดีใจที่ได้รับวงเงินสินเชื่อจากการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันโดยไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ ทำให้ไม้ยืนต้นนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของต้นไม้ เกษตรกรจึงสามารถขยายวงเงินการขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายสะดวกมากขึ้น
นายนักรบ อินทรสาลี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่ธนาคารต้นไม้ 3 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ของ ธ.ก.ส. ได้แก่ 1) ธนาคารต้นไม้บ้านห้วยยางเหนือ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 2) ธนาคารต้นไม้ Aromatic Farm อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ 3) ธนาคารต้นไม้หนองพลับ-ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ทั้งนี้ โครงการ LESS จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกได้รับการยอมรับ โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินทางเทคนิควิชาการ และนำมาผนวกกับแนวคิดการให้การสนับสนุน (Support) จาก ‘ผู้ให้’ ในภาคองค์กร/ธุรกิจ ไปสู่ ‘ผู้รับ’ ในสังคม/ชุมชน และพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตระดับโลกในอนาคต
กรมฯ และ ธ.ก.ส. จะร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน ‘โครงการชุมชนไม้มีค่า’ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อการออม/อนุรักษ์/เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ โดยทั้ง 2 หน่วยงานมั่นใจว่า โลกใบนี้จะสวยงามและน่าอยู่หากเราร่วมแรงร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า สร้างความมั่นคงให้ลูกหลาน อนาคตได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ยาวๆ พร้อมยึดเจตคติ..มีต้นไม้..มีป่าไม้..มีเรา..จรรโลงโลกให้น่าอยู่
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566) มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 146,860 ต้น มูลค่ารวม 138,048,597.02 บาท เกษตรกรที่สนใจ...สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น