แม้ว่าหมูเถื่อนล็อตใหญ่ที่สุดจำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม ถูกจับกุมไปแล้วก็ตาม แต่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นเพียง 8 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เทียบไม่ได้กับราคาที่ลดลงต่อเนื่องรวม 30 บาทต่อโลกรัม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องแบกขาดทุนสะสมและขาดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง กระทบต่อแผนการผลิตและอุปทานเนื้อหมูเพื่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งสถานการณ์ผลผลิตน้อย ราคาควรจะปรับตัวขึ้นตามกลไกตลาด แต่กลับลดลงสวนทางกับความเป็นจริง จึงอนุมานได้ว่า “หมูเถื่อน” ที่อาจติดโรคจึงขายราคาต่ำยังไม่อยู่ในไทย
ในการชุมนุมของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปราบหมูเถื่อนที่บ่อนทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูให้หมดสิ้น สู่การยกระดับราคาหมูไทย โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจากจังหวัดราชบุรี 2 ราย ที่มาร่วมชุมนุมให้ความเห็นว่า ผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบมากจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำจาก 100 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม (ในช่วงเวลานั้น) มีภาระขาดทุนสะสมมากขึ้น จากต้นทุนผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ราคาควรจะดีเพราะผลผลิตยังมีไม่มาก แต่เพราะ “หมูเถื่อน” เข้ามาแทรกแซงตลาดทำให้ราคาบิดเบือน ทั้งที่เกษตรกรมีภาระต้นทุนสูงทั้งจากอาหารสัตว์ และปัจจัยป้องกันโรคระบาด หากราคายังอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม คงไปไม่รอดแน่นอน การปราบหมูเถื่อนจึงเป็นการคืนราคาที่เป็นธรรมให้กับเกษตรกรและต่อลมหายใจของครอบครัว
ปัจจุบันหมูหน้าฟาร์มของไทยราคาต่ำที่สุดในอาเซียน คือ 78 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เวียดนามราคา 89 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชา 82 บาทต่อกิโลกรัม ลาว 93 บาทต่อกิโลกรัม มาเลเซีย 123 บาทต่อกิโลกรัม เมียนมา 117 บาทต่อกิโลกรัม และฟิลิปปินส์ 111 บาทต่อกิโลกรัม แม้ปริมาณหมูเถื่อนจะลดลงแต่ก็ยังไม่สามารถดึงราคาขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 3 ประเด็นหลัก ที่ต้องฝากรัฐบาลนี้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โปรงใส และเคร่งครัด คือ 1. เร่งเปิดตู้สินค้าอีก 100 ตู้ ที่คาดว่ายังตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 2. เร่งทำลายหมูเถื่อนล็อตใหญ่ 4.5 พันตัน ที่จับกุมได้ล่าสุด อย่างเป็นระบบและโปรงใส มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน และ 3. ขอให้กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ เพื่อตรวจยึดหมูเถื่อน และดำเนินคดีตามกฎหมาย
ล่าสุด นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับทุกภาคส่วน เช่น กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมกันป้องกัน ปราบปราม และสกัดการลักลอบนำเข้าต่อเนื่อง ตลอดจนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในกรมศุลกากรแล้ว ส่วนปริมาณหมูแช่แข็งที่ลักลอบนำเข้า 4.5 ล้านตัน นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการส่งทำลาย
ถึงวันนี้ผ่านไป 1 ปี หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังต้องผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งทั้ง กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ในการปราบปรามและสกัดกั้นหมูเถื่อนไม่ให้เข้ามาทำความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและสร้างความเสียหายกับประเทศไทยได้ นำการผลิตสุกรและการค้าขายเนื้อหมูเข้าสู่ภาวะปกติ สร้างสมดุลราคาตามกลไกตลาด “ปลดแอก” ภาระหนี้สินของเกษตรกร และส่งเสริมการฟื้นฟูผลผลิตหมูของไทยสู่เป้าหมาย 18.5 ล้านตัน ในปี 2566 สร้างอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยทั้งประเทศได้บริโภคเนื้อหมูในราคายุติธรรม./
นงพนา สอนสิทธิ์ ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์
ข่าวเด่น