• เงินบาทปรับตัวผันผวนไปตามการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่พลิกแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ หลังข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้
• SET Index ย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างรอผลการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า แต่ยังปิดสูงกว่าสัปดาห์ก่อน จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและเงินหยวน สวนทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางแคนาดา กระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง เพราะแม้เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. แต่ก็อาจจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งในการประชุมรอบเดือนก.ค.นี้ เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทล้างช่วงอ่อนค่าลงเกือบทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้
ในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 844 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,699 ล้านบาท (แม้จะซื้อสุทธิพันธบัตร 64 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุ 2,763 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (12-16 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plots และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด (13-14 มิ.ย.) ผลการประชุม ECB (15 มิ.ย.) และ BOJ (15-16 มิ.ย.) สถานการณ์การเมืองไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้จะย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรกหลังตอบรับปัจจัยบวกอย่างประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ไปพอสมควรแล้ว ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ที่มีปัจจัยบวกจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงคาดการณ์เกี่ยวกับการคงดอกเบี้ยของเฟดและแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลการประชุมเฟดวันที่ 13-14 มิ.ย.
ในวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,555.11 จุด เพิ่มขึ้น 1.56% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,183.70 ล้านบาท ลดลง 5.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.98% มาปิดที่ระดับ 501.30 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (12-16 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (13-14 มิ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุม ECB และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ข่าวเด่น