เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ดัชนี KR-ECI ในเดือนพ.ค.66 ทรงตัวหลังปรับลดลง 2 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากครัวเรือนลดความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย และราคาสินค้า ในขณะที่กลับมีความกังวลด้านรายได้เพิ่มขึ้น"


การชะลอตัวของราคาสินค้าโดยเฉพาะในหมวดหมู่พลังงาน ได้ลดระดับความกังวลของครัวเรือนไทยที่มีต่อค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าลง ขณะที่ครัวเรือนกลับมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับรายได้จากยอดขายหรือผลประกอบการที่ลดลง เนื่องจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงก่อนหน้าได้กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ลดลง และสะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวแต่มีลักษณะที่ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี KR-ECI ในเดือนพ.ค.66 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 34.8

 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมถึงแผนการรับมือค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงและสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยครัวเรือนเลือกการลดปริมาณการใช้ไฟในบ้านมากที่สุด (84.5%) โดยครัวเรือนส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าในอนาคตว่าจะชะลอตัวลงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ (37.0%)

เมื่อมองไประยะข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากการกลับมาที่แข็งแกร่งของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นปัจจัยบวกต่อการจ้างงานและรายได้ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของดัชนีดังกล่าวมีลักษณะเปราะบางท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเมืองไทยที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย

ดัชนี KR-ECI เดือนพ.ค.66 ทรงตัวหลังปรับลดติดต่อกัน 2 เดือน โดยราคาสินค้าพลังงานที่ชะลอลงได้บรรเทาความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ค.66 ทรงตัวที่ 34.8 จาก 34.5 ในเดือนเม.ย.66 ขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นที่ 38.6 จาก 37.7 ในเดือนเม.ย.66 โดยครัวเรือนลดความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายไม่รวมหนี้สินและราคาสินค้าลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนพ.ค.66 ชะลอตัวลงเป็นอย่างมากที่ 0.53%YoY เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน อันเป็นผลมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยขณะนี้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการทยอยปรับลดลงจาก 35 บาทต่อลิตรตั้งแต่เดือนก.พ. เป็นต้นมา ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ่อนตัว ประกอบกับราคาสินค้าอาหารหลายรายการที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ เป็นต้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าในงวดนี้ (เดือนพ.ค.-ส.ค.66) ก็ปรับลดเล็กน้อยจากงวดก่อนหน้าที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ท่ามกลางอัตราค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงและสภาพอากาศที่ร้อนจัด อีกทั้ง อุณหภูมิยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่คาดว่าอาจมีความรุนแรงมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้สอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการรับมือค่าไฟฟ้าของครัวเรือนโดยพบว่า มีแผนในการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านมากสุดที่ 84.5% รองลงมาเป็นการเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ 37.9% นอกจากนี้ ยังมีแผนการรับมือกับค่าไฟฟ้าในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ การใช้เวลาในบ้านให้น้อยลง เช่น เดินทางไปห้างสรรพสินค้า อยู่ที่ทำงานนานขึ้น 17.7% การสร้างสภาพแวดล้อมของบ้านให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เช่น ปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา 15.8% และการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) 5.8% นอกจากนี้ ยังได้มีการสอบถามครัวเรือนถึงมุมมองที่มีต่อค่าไฟฟ้าของไทยในระยะข้างหน้าพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าในอนาคตว่าจะชะลอลงโดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ 37.0% และจากราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้านั้นลดลง 26.6% อีกส่วนหนึ่งมีมุมมองว่า ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่อาจกลับมามีความผันผวนได้ 22.7% และส่วนสุดท้ายยังมองว่าค่าไฟฟ้าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 13.7% อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานานกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ลดลง โดยครัวเรือนในเดือนนี้มีความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับรายได้ สะท้อนผ่านองค์ประกอบของดัชนีฯ ด้านรายได้ที่ลดลง (กังวลมากขึ้น) โดยครัวเรือนที่ระบุว่ามีรายได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการขายสินค้าที่ลดลงหรือมีผลประกอบการที่แย่ลง ถึงแม้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการกลับมาอย่างแข็งแกร่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง
 

 
 
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่หลากหลาย โดยเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง (ณ เดือนพ.ค.66 อยู่ที่ 10.6 ล้านคน) ซึ่งจะหนุนภาคการจ้างงานและรายได้ในประเทศ โดยยังคงเป็นปัจจัยหนุนดัชนีฯ ที่สำคัญ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งทั่วไปที่เสร็จสิ้นเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาก็อาจบรรเทาความกังวลที่มีต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนได้ในระดับหนึ่งจากนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองนำมาใช้หาเสียง โดยสะท้อนผ่านแบบสอบถามเพิ่มเติมในข้างต้นที่พบว่า ครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าในอนาคตเนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ในขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังคงมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อก็อาจกลับมาผันผวนให้อยู่ในระดับสูงได้ และหากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าก็อาจส่งผลให้นโยบายบรรเทาภาระค่าครองชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันสะดุดหรือลดลง อาทิ การไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลของภาครัฐที่อาจกระทบให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลกลับมาปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากระทบต่อต้นทุนการครองชีพของครัวเรือนได้ในระยะข้างหน้าได้ เช่น การส่งผ่านราคาของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร ดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น รวมถึงการชะลอตัวและความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (เดือนพ.ค.66) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 34.8 ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นที่ 38.6 จาก 37.7 ในเดือนเม.ย.66 โดยครัวเรือนลดความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า สอดคล้องอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเป็นอย่างมากในเดือนพ.ค.66 แต่การฟื้นตัวของดัชนีฯ ยังมีความเปราะบางจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มิ.ย. 2566 เวลา : 15:17:50
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 9:46 pm