การตลาด
สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวร้านกาแฟสีเขียว ตามมาตรฐาน Greener Store เชิญชวนลูกค้าทำสิ่งเล็กๆ ที่ดีต่อเราและดีต่อโลกไปด้วยกัน สนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการลดคาร์บอน ของเสีย และการปล่อยของเสียลดลง 50% ภายในปี 2573


 
สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ด้วยการทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมกิจกรรมสนับสนุนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในร้านสตาร์บัคส์ และในปีนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้เปิดตัวร้านกาแฟสีเขียว ซึ่งเป็นร้านที่มีองค์ประกอบเชิงนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Greener Store ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์ สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี และ สตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี

Greener Stores คือการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานใหม่สำหรับร้านสตาร์บัคส์ ให้ตอบสนองต่อการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยกรอบการดำเนินของ Greener Stores ได้รับการพัฒนาร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เพื่อกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ประสิทธิภาพ 25 ข้อ เช่น ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การดูแลน้ำ และการแยกของเสีย ซึ่งออกแบบมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นร้านสตาร์บัคส์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสตาร์บัคส์ในการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้น้ำ และของเสียลง 50% ภายในปี 2573 โดยร้านกาแฟสีเขียว แต่ละแห่งจะมีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกัน และจะได้รับการรับรองผ่านผ่านองค์กรภายนอกเพื่อมาตรฐาน โดยผลการดำเนินงานของ Greener Store แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการประหยัดน้ำและพลังงานได้มากถึง 30% ในปัจจุบัน ร้านสตาร์บัคส์มากกว่า 3,500 แห่ง ใน 20 ประเทศทั่วโลก ได้รับการรับรองว่าเป็น “ร้านกาแฟสีเขียว”

 
สำหรับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีร้านกาแฟสีเขียว ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สตาร์บัคส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาธุประดิษฐ์ สตาร์บัคส์ โรบินสัน ปราจีนบุรี และ สตาร์บัคส์ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ นครชัยศรี โดยทั้ง 3 สาขาได้ยื่นพิจารณาร้านกาแฟสีเขียวหรือ Greener Store ของประเทศไทย ตามหลักการพิจารณาในหัวข้อดังต่อไปนี้

· การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ระบุให้หลอดไฟทั้งหมดที่ใช้ภายในร้านเป็นหลอดไฟประเภท LED การใช้หม้อต้มน้ำร้อนที่ตัดการทำงานโดยอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิของน้ำถึง 70 องศาเซลเซียส และจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 10 องศาเซลเซียส การใช้เครื่องทำน้ำแข็งและเครื่องล้างจานที่ได้มาตรฐานการประหยัดพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา (Energy Star) รวมไปถึงตู้แช่เย็นและตู้แช่แข็งที่ต้องมีคุณสมบัติการใช้พลังงานเทียบเท่าเกณฑ์ประหยัดพลังงาน และการติดตั้งระบบปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ (Inverter) และ VRF ที่มีค่าประหยัดพลังงาน SEER สูงเทียบเท่าหรือดีกว่าเกณฑ์ที่เคยใช้ก่อนหน้า

 
· การบริหารจัดการขยะ ร้านกาแฟสีเขียวของสตาร์บัคส์ จะต้องใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและดำเนินการตามนโยบายของสตาร์บัคส์สากล พร้อมทั้งมีการจัดเก็บกากกาแฟเพื่อให้ลูกค้านำไปปลูกต้นไม้ โดยลูกค้าสามารถรับได้ฟรีที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขา

· การจัดการระบบน้ำ โดยระบุให้มีการติดตั้งระบบกรองน้ำทั้งแบบกรองหยาบและกรองละเอียดเพื่อให้น้ำมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด การใช้ก๊อกประหยัดน้ำที่มีอัตราการไหลของน้ำไม่เกิน 4.5 ลิตร/นาที และการติดตั้งก๊อกปิดน้ำอัตโนมัติบริเวณซิงค์ล้างมือ และเป็นก๊อกน้ำที่มี Aerators บริเวณซิงค์ล้าง เพื่อช่วยลดปริมาตรน้ำขณะใช้งานและช่วยในการประหยัดน้ำ การจัดการน้ำยังรวมไปถึงการใช้เครื่องปั่นที่มีประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานที่กำหนด

· การเลือกใช้วัสดุที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดให้หลอดไฟทั้งหมดที่ใช้ภายในร้านต้องเป็นหลอดไฟ LED รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่ใช้ภายในร้าน อาทิ กาว ยาวแนว สีพ่น และสีทาภายใน รวมถึงวัสดุแผ่น HMR, MDF เป็นวัสดุ low VOC หรือค่าฟอร์มาลดีไฮด์ต่ำ พร้อมทั้งดำเนินการโปรแกรมการจัดหา Ethical Sourcing Program และการรับซื้อเมล็ดกาแฟ C.A.F.É. Practices Coffee ตามนโยบายของสตาร์บัคส์สากล

· สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี กำหนดให้ร้านสตาร์บัคส์สีเขียวเลือกใช้ยิปซั่มเป็นฝ้าเพดานภายในร้านและใช้ฝ้าแบบดูดซับเสียงบริเวณเพดานเหนือบาร์ และภายในห้อง Community พร้อมการออกแบบการวางไฟตาม Lighting Guideline ของสตาร์บัคส์

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ได้เสนอทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อผู้บริโภคเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้กับลูกค้าไปพร้อมกัน เช่น นโยบายส่งเสริมให้ลูกค้าใช้แก้วส่วนตัว โดยมอบส่วนลด 10 บาทต่อเครื่องดื่ม การใช้หลอดที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นเมื่อปี 2565 สตาร์บัคส์ทุกสาขาได้เริ่มใช้แก้วสำหรับใช้ที่ร้านเพื่อลดการใช้พลาสติก ประกอบกับความมุ่งมั่นในการรีไซเคิลกากกาแฟไปผลิตเป็นโต๊ะกลับมาใช้ภายในร้าน รวมถึงถาดและที่รองแก้วกาแฟ ตลอดจนการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มและขนมที่ทำจากพืช (plant-based) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ และสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

 
ทั้งนี้ ความยั่งยืนของสตาร์บัคส์ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการสร้างความยั่งยืน และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชน ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน เช่น การทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือ ITDF ในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่กาแฟในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ การร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ในโครงการ FoodShare ที่ได้นำขนมกว่า 14,200 กิโลกรัม ไปมอบให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่า CO2 ได้ 35,800 กิโลกรัม เทียบเท่าการลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเป็นเวลา 2,400 วัน ทั้งนี้ อาหารเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกและบรรจุอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ มูลนิธิสตาร์บัคส์ สหรัฐอเมริกา ยังได้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนา

โครงการ Rescue Kitchen ในชุมชนต่างๆ กว่า 206 แห่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพด้านโภชนาการให้กับชุมชน โดยพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) สตาร์บัคส์กว่า 50 คน ได้มีส่วนร่วมในการปรุงอาหารให้กับชุมชน นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังสนับสนุนสินค้างานฝีมือท้องถิ่นมาโดยตลอด เช่น การร่วมมือกับครูช่างศิลป์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อผลิตแก้วเบญจรงค์และนำมาวางจำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สิ่งนี้ นับเป็นการอนุรักษ์สืบสานงานศิลป์และช่วยประชาสัมพันธ์ฝีมือครูช่างศิลป์คนไทย

สตาร์บัคส์มุ่งมั่นเป็นผู้นำในธุรกิจกาแฟที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยมีเป้าหมาย ที่จะทำให้ร้านสตาร์บัคส์ทุกแห่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 50% ภายในปี 2573 ลูกค้าทุกท่านสามารถรับชมการดำเนินงานตลอด 25 ปีในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ได้ที่นี่ (ลิ้งค์วิดีโอ) และมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งเล็กๆ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ไปพร้อมกับเราได้ที่สตาร์บัคส์ทุกสาขา ทั่วประเทศ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มิ.ย. 2566 เวลา : 15:40:12
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 9:51 pm