การค้า-อุตสาหกรรม
กยท. ผนึกกำลัง C.C.I.C และ SMEs ASEAN ลงนาม MOU ธุรกิจยางพารา ไทย-จีน ผสานเครือข่ายผลักดันมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นยางพาราไทย


 

วันนี้ (14 มิ.ย.66) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C) และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารา ณ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ผนึกกำลังผสานเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนามาตรฐานและการตรวจรับรองสินค้า มุ่งสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มโอกาสทางธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราไทย

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง กยท. C.C.I.C และ SMEs ASEAN ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน เนื่องด้วยประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยางรวมถึงไม้ยางพาราส่วนใหญ่ และในปัจจุบันประเทศจีนเตรียมพร้อมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคทั้งระบบ โดยให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองก่อนกระบวนการผลิต กยท. จึงพยายามผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมุ่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้รับการรับรอง สามารถส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสถาบันเกษตรกรที่พร้อมก้าวสู่บทบาทผู้ส่งออกยางรายใหม่ ให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราและไม้ยางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืนและมั่นคง

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ กยท. สนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร โดยคัดเลือกจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ที่พร้อมพัฒนาตนเองสู่การอบรมตามมาตรฐาน เพื่อให้เข้าใจถึงกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน พร้อมทั้งส่งเสริมระบบมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง การลงทุนทางการค้าและพัฒนาระบบตลาด ซึ่งขณะนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายพร้อมเดินหน้า 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นไปตามกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน โครงการเพื่อการรับรองกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยมและความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ “ฉลาก QR ร่วม” ซึ่งความหมายของฉลาก เป็นการนำสัญลักษณ์ของ 3 องค์กรมาใช้ประกอบในสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงการบูรณาการร่วมกันให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้ใช้ยางในประชาคมโลก โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า และโครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์อย่างถูกต้อง

 

 

“ด้วยความร่วมมือนี้ จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางของไทย สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดในแถบภูมิภาคอื่นๆ ดึงความเชื่อมั่นให้ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลก ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของไทย” นายณกรณ์ กล่าวในตอนท้าย

Mr.Liu Hua Lyu กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า C.C.I.C ในฐานะบริษัทที่ดำเนินการตรวจสอบ ประเมิน และให้การรับรองสินค้าที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับสากลและในประเทศจีน พร้อมที่จะให้ความรู้และฝึกอบรมการรับรองระบบให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ได้เข้าใจถึงกฎ ข้อกำหนด และระบบการจัดการในประเทศจีน เตรียมสร้างแพลทฟอร์มสำหรับโครงการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา และให้บริการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาสำหรับผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราของไทย รวมถึงจัดทำแผนสำหรับกระบวนการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ และจะอำนวยความสะดวกในการสื่อสารในกระบวนการและกฎระเบียบ ของการรับรองและตรวจสอบซัพพลายเออร์ และช่วย กยท. ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรฐานของยางพารา และให้บริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกโดยออกเอกสารรายงานการตรวจสอบที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่ค้า ทั้งนี้พร้อมส่งเสริมและจะเพิ่มการรับรู้ผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาดและกลุ่มผู้นำเข้าของจีนต่อไป

Mr.Jacky Saechen นายกสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา เป็นสินค้าที่ประเทศจีนนำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก ทางสมาคมจะดำเนินการประสานงานในเบื้องต้นโดยเลือกกลุ่มตลาดเป้าหมายในประเทศจีน แนะนำผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราของไทยให้กับผู้ประกอบกิจการยางพาราและไม้ยางพาราที่มีความสนใจ และตรวจสอบพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบกิจการในจีนที่มีความสนใจซื้อสินค้าไทย และส่งเสริมระบบการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อสร้างมาตรฐานระยะยาว และการลงทุนทางการค้า รวมถึงพัฒนาโมเดลระบบตลาด ให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสากลและขยายขอบเขตทางธุรกิจทั้งในประเทศจีน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2566 เวลา : 13:15:24
24-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 4:10 am