ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับรางวัล Ajinomoto - FoSTAT Awards นักวิจัยดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ประเภท Outstanding Food Scientist Award ประจำปี 2566 จากผลงานเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต functional ingredients สำหรับการประยุกต์ใช้ในอาหารและอาหารสัตว์ (Development of functional ingredient industry for food and feed application) โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ และ ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัล ภายในงาน Food Innovation Asia Conference 2023 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่อุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดี
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ตนมีความสนใจและเชี่ยวชาญทางด้านเคมีอาหาร เน้นโปรตีนและเอนไซม์ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการวิจัยทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางวิชาการในเชิงลึกและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ที่เป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย การวิจัยเน้นการใช้ประโยชน์เซลล์จุลินทรีย์และเอนไซม์หรือสารที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้น ในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารหมักของไทย โดยตนและคณะวิจัย ได้ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบทางการเกษตรและวัสดุเศษเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารชนิดต่าง ๆ สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมอาหารใหม่มูลค่าสูง การผลิตสารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ ลดการสูญเสียคุณภาพและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารรูปแบบใหม่ให้กับประเทศ โดยมีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร เช่น การผลิตและใช้ประโยชน์เซลล์จุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตอาหารและอาหารสัตว์
รวมถึงยังได้พัฒนากระบวนผลิตต้นเชื้อจุลินทรีย์สำหรับการผลิตอาหารชนิดต่าง ๆ โดยมีการออกแบบและคิดอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย การกำหนดกลยุทธ์และเกณฑ์ในคัดแยกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ การพัฒนาการเลี้ยงจนได้ต้นเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ การคัดเลือกและทดสอบจุลินทรีย์ที่เหมาะสมด้วยการหมักจริงในสภาวะที่กำหนด การวิเคราะห์และระบุสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้ด้วยเทคนิคทางชีววิทยาโมเลกุลซึ่งมีความแม่นยำสูง การประเมินความปลอดภัยของจุลินทรีย์สำหรับการใช้เพื่อผลิตอาหาร การประเมินความปลอดภัยของจุลินทรีย์โดยการวิเคราะห์ลำดับเบสตลอดจีโนม (Whole genome analysis) การพัฒนาสูตรส่วนผสมจุลินทรีย์และวิธีการใช้ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต้นเชื้อจุลินทรีย์อย่างง่ายและต้นทุนต่ำ โดยการพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อใหม่แทนการใช้วัตถุดิบและสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อที่ใช้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการ การควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ให้เหมาะสม ทำให้ได้ปริมาณเซลล์เทียบเท่าหรือมากกว่าการเลี้ยงจุลินทรีย์โดยใช้อาหารเลี้ยงดั้งเดิม แต่มีต้นทุนการผลิตเซลล์ที่ต่ำกว่า ตลอดจนการพัฒนากระบวนการปลายน้ำ (downstream process) ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานสะดวกและมีอายุการเก็บรักษาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการผลิตเซลล์จุลินทรีย์อย่างง่ายที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการจนมีความมั่นใจในเทคโนโลยีและสามารถดำเนินการผลิตได้เองในสถานประกอบการ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานที่ประสบความสำเร็จ เช่น กระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากผลไม้ในขั้นตอนเดียวและสูตรจุลินทรีย์ MV-F1, เชื้อจุลินทรีย์บาซิลลัสเพื่อเป็นอาหารหมักชีวภาพสำหรับสัตว์ เช่น “B-Soy Digest” และ D1, การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เสริมสำหรับสัตว์, ต้นเชื้อแบคทีเรียกรดแลคติกสำหรับหมักผักกาดดองเปรี้ยว โดยร่วมมือกับบริษัท สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด
รวมถึงยังมีผลงานด้านการผลิตและใช้ประโยชน์จากเอนไซม์และโปรตีนกลุ่มต่างๆ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตไลโซไซม์เปปไทด์ในระดับอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐาน GMP โดยดำเนินการร่วมกับบริษัทโอโว่ฟู้ดเทค จำกัด และบริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ eLysozyme™ ที่มีเชื้อยังยั้งแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบครอบคลุมแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารและแบคทีเรียก่อโรคที่มีความสำคัญในสัตว์น้ำและปศุสัตว์ เป็นต้น
ข่าวเด่น