‘สรรเสริญ’ บินประชุมบอร์ด ERIA ครั้งที่ 16 ที่อินโดนีเซีย ถกเข้มปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำบทบาท ERIA ในการวิจัยและเสนอแนะนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หนุนอาเซียนและคู่เจรจาเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงาน พร้อมจัดตั้งศูนย์ความรู้เรื่องเศษพลาสติกในทะเล ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งขยายเครือข่ายและพันธมิตรด้านการวิจัยให้กว้างขึ้น
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนในฐานะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบัน ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของการเป็นองค์กรวิจัยและเสนอแนะด้านนโยบาย เกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองโลกที่มีผลต่อภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออก และทิศทางในอนาคต รวมทั้งหารือกับเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
นายสรรเสริญ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารได้ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศ จึงเน้นบทบาทของ ERIA ในการวิจัยและเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค อาทิ การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน การเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานและห่วงโซ่พลังงานทางเลือก ระหว่างอาเซียนกับอินเดียและจีน การส่งเสริมเครือข่ายเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage and Utilization: CCUS) การจัดตั้งศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเศษพลาสติกในทะเล รวมถึงการสนับสนุนภาคการเงินเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับด้านการวิจัยที่สนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน สถาบันจะเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎระเบียบทางการค้า การยกระดับห่วงโซ่มูลค่าโลก การพัฒนาที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจภาคทะเล และประเด็นที่จะช่วยการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) อาทิ การนำสินค้ากลับมาปรับปรุงให้มีคุณสมบัติเหมือนของใหม่ (Remanufactured Goods) นอกจากนี้ได้หารือเรื่องความร่วมมือด้านวิชาการกับประเทศคู่เจรจาในกรอบ G7 และ G20 อาทิ การเกษตรอัจฉริยะเพื่อความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อขยายเครือข่ายและพันธมิตรด้านการวิจัยให้กว้างขวางขึ้น
ทั้งนี้ สถาบัน ERIA เป็นองค์กรวิจัยระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามมติของผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออก ผ่านงานวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญ และมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยจะประชุมคณะกรรมการบริหารเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาชั้นนำของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ข่าวเด่น