ไอที
การ์ทเนอร์ เผย 47% ของพนักงานดิจิทัลประสบปัญหาค้นหาข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารในองค์กรดิจิทัล (Digital Workplace) สามารถใช้แอปพลิเคชันและแนวทางปฏิบัติที่ใช้ร่วมกันได้เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางธุรกิจ


 
จากการสำรวจล่าสุดของการ์ทเนอร์ อิงค์ พบว่า 47% ของพนักงานดิจิทัลระบุว่าพวกเขาต้องพบกับความยุ่งยากไปกับการค้นหาข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ

ทอร์รี พอลแมน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า "พนักงานต้องประสบปัญหากับการจัดการงานในยุคดิจิทัล เนื่องจากมีข้อมูลและแอปพลิเคชันที่เข้ามาในดิจิทัลเวิร์กสเปซมากขึ้น แม้ว่าพนักงานจะพยายามจัดการคอนเทนต์เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อนหรือเพิ่มการแบ่งปันความรู้และการรักษาความรู้ ซึ่งการค้นหาข้อมูลที่ต้องการสำหรับการทำงานกลับสร้างแรงกดดันให้พนักงานเผชิญกับความท้าทาย ผู้บริหารในองค์กรดิจิทัลควรสร้างกระบวนการที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถตกลงกันในแอปพลิเคชันที่ใช้ในการทำงานได้"

รายงานการสำรวจของการ์ทเนอร์นี้ดำเนินการในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ปี 2565 กับพนักงานประจำที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำนวน 4,861 รายในองค์กรที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย และจีน

 
พนักงานต้องการเครื่องมือที่เหมาะสม

จากการสำรวจพบว่าพนักงานนั่งโต๊ะ (ที่อาจเรียกว่า "พนักงานที่มีทักษะหรือ Knowledge Worker") ใช้แอปพลิเคชันสำหรับทำงานโดยเฉลี่ย 11 แอปพลิเคชัน เมื่อเทียบกับ 6 แอปพลิเคชันในปี 2563 โดย 40% ของพนักงานดิจิทัลใช้แอปพลิเคชันทำงานมากกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ 5% ของพนักงานใช้มากกว่า 26 แอปพลิเคชันในที่ทำงาน

โดยเฉลี่ย 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า องค์กรสามารถบรรลุผลและสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นได้ หากฝ่ายไอทีจัดหาแอปพลิเคชันและอุปกรณ์ที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนการทำงานในระดับสากล เมื่อกลยุทธ์แอปพลิเคชันในดิจิทัลเวิร์กสเปซพยายามเอาชนะทุกความท้าทายด้วยแอปพลิเคชันใหม่ พบว่าพนักงานดิจิทัลต้องเจอกับปัญหาในการค้นหาข้อมูล การตัดสินใจที่ไม่ดีพอเนื่องจากขาดองค์ความรู้ การได้รับการแจ้งเตือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน และพลาดการอัปเดตสำคัญท่ามกลางการถูกรบกวน (ดูรูปที่ 1)

รูปที่ 1 ผลกระทบของการใช้งานแอปพลิเคชันจำนวนมาก (เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม)

 
ข้อมูลจาก: การ์ทเนอร์ (พฤษภาคม 2566)

พนักงานยอมรับการตรวจสอบการทำงานเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ การแพร่ระบาดทำให้องค์กรให้ความสนใจติดตามประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน โดยระบบเหล่านี้ตรวจสอบการมีส่วนร่วมของพนักงานผ่านอุปกรณ์และการใช้งานแอปพลิเคชัน รวมทั้งประเมินว่าพนักงานคนใดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดและตรงตามผลลัพธ์ทางธุรกิจหรือไม่

แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในระดับพื้นฐานที่สุดอาจเต็มไปด้วยข้อกังขา อย่างไรก็ดีการสำรวจชี้ให้เห็นว่า มีพนักงานดิจิทัลถึง 96% ระบุว่าพวกเขายินดียอมรับการตรวจสอบเพื่อแลกกับความช่วยเหลืออย่างน้อยหนึ่งในสามตัวเลือกที่ตอบในแบบสอบถาม ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า 34% ระบุว่าพวกเขายอมรับการตรวจสอบเพื่อเป็นประตูสู่โอกาสในการฝึกอบรมเสริมความรู้และความก้าวหน้าในอาชีพ ในขณะที่ 33% ยอมรับการตรวจสอบเพื่อรับการสนับสนุนในการหาข้อมูลสำหรับทำงานของพวกเขา และ 30% ยอมรับการตรวจสอบเพื่อแลกกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันเชิงรุกจากทีมไอทีเมื่อเจอปัญหา

 
พนักงานต้องการให้แก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีแบบเชิงรุก

การสำรวจพบว่าแนวทางความช่วยเหลือด้านไอทีภายในองค์กร 6 ข้อแรกที่พนักงานต้องการจากการแก้ไขด้านเทคโนโลยี โดยแนวทาง 3 อันดับแรก ได้แก่ การโต้ตอบทางโทรศัพท์ แชท และบทสนทนาทางอีเมล โดยให้เหตุผลหลักว่าความรู้ความเชี่ยวชาญของพนักงานฝ่ายไอทีที่แก้ปัญหาและความรวดเร็วในการแก้ปัญหา ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่างจากปี 2563 ที่พนักงานเลือกใช้วิธีการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ค้นหาวิธีแก้ปัญหาทางออนไลน์และปรึกษาเพื่อนร่วมงาน

“พนักงานต้องการการสนับสนุนด้านไอทีเชิงรุกมากขึ้น เช่นได้รับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันก่อนที่จะพบความผิดปกติหรือก่อนที่ความผิดปกตินั้นจะถูกรายงานออกไป ประสบการณ์การทำงานแบบดิจิทัลของพนักงาน (DEX) สามารถช่วยทีมไอทีให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์และแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง” พอลแมน กล่าวเสริม

"ผู้บริหารในดิจิทัลเวิร์กสเปซต้องเริ่มขับเคลื่อน DEX และตระหนักว่าจะใช้เครื่องมือดิจิทัลที่มีอยู่ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด พวกเขาควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพและหาแนวปฏิบัติที่เหมาะสม
แก่พนักงานเพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานดิจิทัลที่ยอดเยี่ยม เช่น ส่งเสริมการเติบโตและสร้างความสัมพันธ์ทั่วทั้งองค์กร เข้าใจวิธีการที่พนักงานรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มิ.ย. 2566 เวลา : 16:25:26
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:27 am