ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 - 23 มิ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่เผชิญความไม่แน่นอน โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือน พ.ค. ที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ FGE ที่คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงต้องจับตาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจาก FED ยังคงส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง รวมถึงจับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อุปทานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น หลังตุรกีและอิรักเตรียมกลับมาเจรจาเพื่อเปิดทางให้การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รายงาน OPEC ฉบับล่าสุด บ่งชี้ว่ากำลังผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มปรับลดลงในเดือน พ.ค.
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 0.2% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.1% และอยู่ระดับต่ำใกล้ 0% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ตัวเลขทางเศรษฐกิจนี้สอดคล้องกับตัวเลขอื่น ๆ ที่รายงานก่อนหน้า อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.8 ต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 4.6% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 4.3% และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน และการส่งออกของจีนซึ่งหดตัวลงกว่า 7.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ (CPI) เดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 4.0% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 4.1% และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.9% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงอยู่ที่ระดับ 5.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง เช่นเดียวกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 13 – 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00 – 5.25% แต่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 5.50 – 5.75% ในช่วงสิ้นปี 2023 โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ปรับลด ประกอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีสิ้นสุดลง ส่งผลให้ตุรกีและอิรักเตรียมเปิดการเจรจาอีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 10 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดของอิรัก จากแหล่งน้ำมัน Kirkuk ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานมายังท่าเรือ Ceyhan กลับมาดำเนินการได้ปกติ หลังท่อดังกล่าวถูกระงับนับตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยความเสียหายจากการระงับท่อส่งน้ำมันดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าราว 2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
รายงานของ FGE ฉบับเดือน มิ.ย. (12 มิ.ย.) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2023 จะเติบโตที่ระดับ 2.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงกว่ารายงานก่อนหน้า 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้ในภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกาที่แนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม FGE คาดว่าการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันจีนมีแนวโน้มปรับลดอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 2/66 สู่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 4/66 ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2023 จะปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 102.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รายงานของ OPEC ฉบับเดือน มิ.ย. ยังคงระดับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2023 ที่ระดับ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้เศรษฐกิจของโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังคงมีความไม่แน่นอน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของจีนคาดจะเติบโตที่ระดับ 0.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่ารายงานครั้งก่อนหน้าที่ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ จากรายงานดังกล่าวระบุว่า กำลังผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 28.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าราว 0.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 66 และดัชนีผู้จัดฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มิ.ย. 66
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 - 16 มิ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังรายงานยอดการกลั่นน้ำมันในจีนเดือน พ.ค. 66 ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 15.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 62.0 ล้านตัน แสดงถึงอุปสงค์น้ำมันในจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำมันดิบของรัสเซียซึ่งส่งออกไปยังจีนและอินเดีย ทำจุดสูงสุดใหม่ในเดือน พ.ค. 66 ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน เดือน พ.ค. ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ และรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มิ.ย. 66 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 467.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลด 0.5 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น