การค้า-อุตสาหกรรม
ทำเลยุทธศาสตร์ พลิกโอกาสประเทศไทย รับการปรับห่วงโซ่อุปทานโลก เคพีเอ็มจี ชี้ ไทยได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ สู่ผู้เล่นหลักในการกระจายและปรับระบบห่วงโซ่อุปทานธุรกิจระดับโลก


เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับมืออาชีพชั้นนำ เน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับธุรกิจที่ต้องการปรับระบบห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ของประเทศ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยทำให้ไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 495.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตร้อยละ 2.6 ต่อปีในปี 2565 ปัจจัยต่างๆ อันประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ได้รับการพัฒนา การค้าข้ามพรมแดนที่สำคัญ และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลได้กระตุ้นให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมากย้ายห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ มายังประเทศไทย

“ภูมิยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับความซับซ้อนท้าทายของระบบห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ จากโครงสร้างพื้นฐานของไทยซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานให้เข้าถึงตลาดที่มีการเติบโตสูง และฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

 
สุกิจ วงศ์ถาวราวัฒน์ หุ้นส่วน และ ประธานฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรกซึ่งเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ภายในประเทศไทยและชายแดนมาเลเซียซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 จะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การดำเนินการตามโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งส่งเสริมการนำเครือข่าย 5G มาใช้และความก้าวหน้าของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะสร้างโอกาสสำหรับการเพิ่มระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลภายในห่วงโซ่อุปทาน

“การที่ประเทศไทยมีแรงงานคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับธุรกิจต่างๆ ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่สอดคล้องกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงแรงงานที่คุ้มค่ากับชุดทักษะที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีต่อๆ ไป เนื่องจากค่าครองชีพและอุปสงค์ในประเทศสูงขึ้น”

 
เอียน ธอร์นฮิลล์ กรรมการบริหาร และ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการซื้อขายกิจการ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนของประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐยิ่งช่วยเสริมความน่าดึงดูดสำหรับการย้ายฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำในอาเซียน เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ลงทุนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ และให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

“ภาคส่วนสำคัญของไทยในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีโอกาสเติบโตที่สำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยเป้าหมายของประเทศที่จะเป็นศูนย์กลางEV ในอาเซียนภายในปี 2568 ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกำลังพัฒนาผ่านการทำฟาร์มอัจฉริยะและการจัดตั้งระบบนิเวศอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ได้วางแผนสนับสนุนภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะผ่านแผนปฏิบัติการในช่วงปี 2566-2570 โดยมีมาตรการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กระตุ้นความต้องการ และสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ที่มีศักยภาพจากประเทศจีน” มัลลิกา ภูมิวาร หุ้นส่วนที่ปรึกษาภาษีศุลกากรและการค้าระหว่างประเทศ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

 
เมื่อมองไปข้างหน้า โมเดลเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยการเปิดรับนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิตอัจฉริยะ การเพิ่มระบบอัตโนมัติ การแปลงเป็นดิจิทัล และการให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีความรู้และแรงงานที่มีทักษะสูง การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และบริการดิจิทัล ล้วนแล้วแต่นำเสนอโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับธุรกิจในประเทศไทย

“เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเราได้รับความสนใจจากธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพราะความได้เปรียบของตำแหน่งยุทธศาสตร์ ด้วยทำเลที่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ประเทศไทยจึงมีความพร้อมเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนแปลงนี้ และทีมงานของ KPMG มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยลูกค้าของเราในการคว้าโอกาสเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้ได้มากที่สุด”

 
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าว

ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์ Rethinking supply chains: Thailand’s opportunity in the global supply chain realignment.

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มิ.ย. 2566 เวลา : 12:06:06
24-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 3:57 am