อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า “เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการฯ ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 274 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 87 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 187 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 45,392 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 2,999 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ * ญี่ปุ่น 63 ราย (ร้อยละ 23) เงินลงทุน 15,873 ล้านบาท * สหรัฐอเมริกา 48 ราย (ร้อยละ 18) เงินลงทุน 2,456 ล้านบาท * สิงคโปร์ 46 ราย (ร้อยละ 17) เงินลงทุน 6,356 ล้านบาท * จีน 19 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 11,479 ล้านบาท และ * ฮ่องกง 12 ราย (ร้อยละ 4) เงินลงทุน 2,991 ล้านบาท
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 37 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 (เดือนม.ค. - พ.ค. 66 อนุญาต 274 ราย / เดือนม.ค. - พ.ค. 65 อนุญาต 237 ราย) มูลค่าการลงทุนลดลง 9,684 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 (เดือนม.ค. - พ.ค. 66 ลงทุน 45,392 ล้านบาท / เดือนม.ค. - พ.ค. 65 ลงทุน 55,076 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยลดลง 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 (เดือนม.ค.- พ.ค. 66 จ้างงาน 2,999 คน / เดือนม.ค. - พ.ค. 65 จ้างงาน 3,022 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ
* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
* บริการก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น
* บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า
* บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 9,442 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 19 ราย ลงทุน 3,264 ล้านบาท จีน 9 ราย ลงทุน 752 ล้านบาท ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 17 ราย ลงทุน 2,506 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ 3) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และ 5) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 57 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 18 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 39 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,690 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 580 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม องค์ความรู้ในการใช้เครื่องจักรประกอบล้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารประกอบไฟโตเจนนิกเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคในการตรวจสอบและสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อประเมินศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้าสำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม
* บริการกิจการซอฟต์แวร์ ประเภท Enterprise Software และ Digital Content
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการใช้ก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ เป็นต้น
ข่าวเด่น