สัปดาห์ที่ผ่านมา การตั้งคำถามของนักการเมืองผู้ชำนาญการพิเศษเรื่อง “ส่วย” อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลเปิดประเด็น “ส่วยหมูเถื่อน” แบบตั้งใจ “ฟาด” การทำงานล่าช้าของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศถ้ายังปล่อยปละละเลย แล้วเกิดโรคระบาดขึ้น ต้องมีคนรับผิดชอบ...คำถามเดียวแต่โดน ทั้งที่เรื่องหมูเถื่อนนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นผู้เปิดฉากร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ทั้งชี้เป้าท่าเรือแหลมฉบัง ห้องเย็น จนถึงขั้นนำผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศบุกทำเนียบรัฐบานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหมูตกต่ำและต่ำกว่าต้นทุนผลิต
ที่ผ่านมา การเรียกร้องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อาจเป็นเพียงแค่กระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐทำงานเป็นพักๆ กระตุ้นทีทำที ไม่เหมือนกับการที่นักการเมืองจากพรรคว่าที่แกนนำรัฐบาลชุดใหม่ ได้ให้คำมั่นสัญญาประชาชนว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นใน 100 วัน ทำให้การตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ส่วย” ครั้งนี้ จึงมีผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้อนรุ่ม นั่งไม่ติด เพราะเห็น “ส่วยทางหลวง” เป็นตัวอย่างที่มีการย้ายนายตำรวจเข้ากรุทันที
2 กรมหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กรมศุลกากร นำหน้าออกมาแถลงข่าวทันทีที่โดยพาดพิง ที่มาตื่นตัวระยะหลังนี้เพราะโดนจี้ถามความคืบหน้า และเร่งรัดให้เปิดตู้สินค้าจำนวนมากที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากที่ก่อนหน้านี้บอกมี 60-70 ตู้ แต่เปิดให้ดูเพียง 5 ตู้ แล้วก็พบหมูเถื่อนจริงๆ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันและเชื่อได้ว่ายังมีหมูเถื่อนในตู้ตกค้างอีก หลังกรมฯ ถูกกดดันหนักขึ้น จึงมีการเปิดตู้สินค้าเพิ่ม ซึ่งเป็นที่มาของหมูเถื่อน 161 ตู้ จำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 225 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่าน ตอกย้ำความจริงที่ว่าแหลมฉบังเป็นทางเข้ามาของ “หมูเถื่อน” มาตลอด 1 ปีกว่า แต่เหตุใดจึงไม่มีการสกัดกั้นที่มีประสิทธิภาพ
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวที่สโมสรตำรวจว่า ได้ส่งให้หมูเถื่อนที่ยังได้ 159 ตู้ น้ำหนัก 4.31 ล้านกิโลกรัม จาก 161 ตู้ ให้ปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี ดำเนินการทำลายไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 กลายเป็นเผือกร้อนไปตกที่กรมปศุสัตว์ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเบื้องต้น กรมศุลฯ ได้ถอนใบอนุญาตบริษัทชิ้ปปิ้งที่เกี่ยวข้องกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งปกติกรมศุลฯ ไม่สามารถเปิดตรวจสอบตู้สินค้าเองได้ ยกเว้นตรวจพบว่าเป็นยาเสพติดและอาวุธสงคราม นี่แสดงให้เห็นว่า “หมูเถื่อน” อยู่ในภาวะปกติ จึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 60 วัน จึงจะเปิดตู้ตรวจสอบได้ เชื่อภายใต้ พ.ร.บ. กรมศุลกากร น่าจะมีช่องให้เปิดตู้สินค้าต้องสงสัยได้ อีกทั้งกรมศุลฯ ยังชี้ว่ากรณีเป็นเนื้อหมูจะตรวจยึดได้ยาก จะพบได้ต่อเมื่อผู้นำเข้ามาเข้าระบบพิธีทางศุลกากรที่จะต้องมาสำแดงสินค้า แต่หากตรวจพบว่าไม่ตรงกับที่สำแดงจึงจะพบของกลาง เรื่องนี้ต้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกรมศุลฯ มาให้ปากคำ
กรมปศุสัตว์ตามมาติดๆ แบบหายใจรดต้นคอ โดย น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ เจ้ากรมปศุสัตว์ แถลงข่าว ยืนยันว่ากรมฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อน และไม่มีการเรียกรับเงินแลกกับการไม่ตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ผู้นำเข้าสินค้าสำแดงเท็จเป็นปลา และอาหารทะเล ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายชัดเจนในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน ที่ผ่านมาได้เข้าตรวจสอบผู้ประกอบการ 510 ครั้ง สามารถยึดอายัดซากและชิ้นส่วนสุกรและฝังทำลายแล้วประมาณ 1 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 173 ล้านบาท และยังดำเนินการตรวจห้องเย็นอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการป้องกันของกระทรวงฯ
ถึงวันนี้ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ตกเป้าไม่ต่างกับหมูเถื่อน เพราะโดนจับตาจากภาคการเมือง เพราะไม่ว่าพรรคใดมาคุมกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรฯ (ที่ทั้ง 2 กรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแล) คงต้องมาร่วมกันเร่งกวาดล้างงานทุจริตคอรัปชั่นตามนโยบายพรรคก้าวไกล ให้ประเทศก้าวหน้า ตามที่รับปากกับสังคมไว้ใน 100 วัน ช่วงนี้จึงอยู่ในระหว่างคัดรายชื่อ “ขึ้นบัญชีดำ” เพื่อรอตรวจสอบข้าราชการน้ำเน่า และลงโทษเหมือนกรณีที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนแบบนี้ดีกับประเทศในระยะยาว เห็นด้วยที่จะต้องลงดาบกับคนทุจริตครั้งนี้./
เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ
ข่าวเด่น