เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบได้รับทรงตัว หลังเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางอุปทานที่ลดลงจากกลุ่มโอเปก"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 - 30 มิ.ย. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่เผชิญความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลง รวมถึง ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต
 
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
 
เศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และคาดว่าจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน หลังภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาอยู่ที่ราว 5.1 – 5.7% ลดลงจากเดิมที่ 5.5 – 6.3% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของจีน (CNPC) ที่มีการปรับลดความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ลงจากเดิมที่ 14.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาเหลือ 14.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.1% นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน 
 
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและคาดว่าจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการเปิดเผยถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ปรับลดลงมา โดยตลาดคาดว่า FED จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 5.0 – 5.25% ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ก.ค. 2566  
 
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขับขี่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 มิ.ย. ปรับลดลง 3.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
 
 
จับตาการประชุมสัมมนาของกลุ่มโอเปกในวันที่ 5 – 6 ก.ค. 66 ว่ากลุ่มผู้ผลิตโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย จะมีการออกมาตรการในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน พ.ค. 66 ปรับลดลง 0.46 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 28.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุฯ และประเทศพันธมิตรมีการปรับลดกำลังการผลิตลงด้วยความสมัครใจเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 ที่ราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยทั้งนี้ปริมาณการผลิตมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการไปถึงสิ้นปีหน้า และซาอุดิอาระเบียมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. 66
 
 
ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิหร่านปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดกลุ่มประเทศตะวันตกเริ่มกลับมาเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านอีกครั้ง ส่งสัญญาณที่ดีถึงการกลับมาเพิ่มขึ้นของอุปทานจากอิหร่านหากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อุปทานจากอิหร่านสามารถเพิ่มขึ้นได้มากถึง 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดปริมาณการผลิตและการส่งออกของอิหร่านในเดือน พ.ค. 2566 อยู่ที่ราว 3.0 และ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่ปี 2561 
 
 
จับตาการเจรจาระหว่างอิรักและตุรกีว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากอิรักผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งมีกำลังการขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน ได้หรือไม่ หลังมีการปิดดำเนินการไปตั้งแต่เดือน มี.ค. 66 
 
โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานมีการเข้าพบประประธานาธิบดีตุรกีและอยู่ระหว่างการเจรจาในการเปิดดำเนินการท่อดังกล่าว 
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66 ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/66 ของสหรัฐฯ  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน เดือน มิ.ย. 66
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 มิ.ย. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 2.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกในเดือน พ.ค. 66 ชะลอตัวลง รวมทั้ง แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่ปี 2551 อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง เนื่องจากแรงกดดันทางเงินเฟ้อที่ลดลง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบอีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:56:12
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 6:03 pm