ปาริชาติ จิรวัชรา Partner | Risk Advisory ทัศดา แสงมานะเจริญ Senior Consultant | Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย
สถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อาจไม่ใช่สิ่งที่แย่ที่สุด แต่กลับเป็นสถานการณ์ที่ชิปล้นตลาดในอุตสาหกรรมหนึ่งและขาดตลาดอีกอุตสาหกรรม ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ในปี 2566 ทั้งเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง รวมทั้งบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่พากันชะลอตัว ได้ส่งผลให้เกิดการลดลงของมูลค่าหลักทรัพย์อย่างมาก บริษัทชิป 10 อันดับแรกทั่วโลกมีมูลค่าตามราคาตลาดลดลง 34% จากประมาณ 2.9 เหลือ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤศจิกายน 2564 และ 2565 ตามลำดับ แม้ว่าราคาของ High-end Memory ได้ลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องใช้เวลารอสินค้าประมาณ 6 เดือน ณ ตุลาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้มงวดกับกฎระเบียบการส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไปยังจีนในเดือนตุลาคม 2565 มีแนวโน้มส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรมทั้งหมดในปี 2566 อีกด้วย
แต่ก็ยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้เห็น ดีลอยท์คาดการณ์ว่าปี 2566 นี้อาจเป็นการหยุดเพื่อกลับมาเริ่มต้นให้อุตสาหกรรมชิปเข้าสู่ 5 แนวโน้มดังนี้
1. การดึงฐานการผลิตมาใกล้ตัวมากขึ้น ทั้งการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ (Fabs) หรือ เพิ่มสายการผลิตใหม่จากโรงงานที่มีอยู่ โดยการใช้ประโยชน์จาก Friend-shoring
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่สามารถเดินหน้าแต่เพียงลำพังได้ แต่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากห่วงโซ่อุปทาน ชิปแต่ละชนิดอาจต้องใช้แผ่นเวเฟอร์ กระบวนการทางเทคโนโลยี วัตถุดิบ เครื่องมือออกแบบ และ อื่น ๆ ที่ต่างกัน บางส่วนอาจอยู่ในพื้นที่ของเรา (Onshoring) พื้นที่ใกล้เรา (Nearshoring) หรือพื้นที่ที่เป็นพันธมิตรกับเรา (Friend shoring) ซึ่งอาจอยู่ใกล้ ๆ หรืออีกฝั่งของโลก
2. กระจายความเสี่ยงและความท้าทายที่มากับ Localization และ Friend-shoring
อุตสาหกรรมชิปในสหรัฐและยุโรปต่างพิจารณาการกระจายห่วงโซ่อุปทานทั้ง Fabs และ ชิ้นส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจย้ายจากฐานการผลิตในเอเชียแปซิฟิกสู่อเมริกาเหนือและยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเลียนแบบความสามารถในการผลิตแบบโรงงานในเอเชียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งโรงงานในเอเชียยังได้สำรองวัตถุดิบในการผลิตในปริมาณมากตั้งแต่ช่วงปัญหาจากโรคระบาด การค้า และ ห่วงโซ่อุปทานมาระยะใหญ่แล้ว และยังเป็นผู้นำในการผลิตและส่งสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรงอีกด้วย
3. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่าง ๆ เช่น การวางแผนทางการเงิน การดำเนินการ การจัดการคำสั่งซื้อ และห่วงโซ่อุปทาน
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าในทศวรรษนี้ โดยการเติบโตนี้คาดว่าจะต้องมีการลงทุนในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันโรงงานประกอบและทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นโรงหล่อ หรือ OSAT (Outsourced Semiconductor Assembly and Test) กว่า 90% ตั้งฐานอยู่ในเอเชีย ในขณะที่หลายบริษัทในอุตสาหกรรมนี้กำลังขยายกำลังการประกอบและทดสอบในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งอาจทำให้ความท้าทายในแง่ของเทคโนโลยีและระบบห่วงโซ่อุปทานที่แยกส่วนรุนแรงขึ้น ดังนั้นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูล ERP การวางแผน และระบบการทำงานร่วมกันของซัพพลายเออร์พร้อมกับปัญญาประดิษฐ์และ cognitive technologies จะทำให้กระบวนการ OSAT มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยวางแผนล่วงหน้าสำหรับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในอนาคต
4. ตระหนักและให้ความสมดุลกับบุคลากรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจขาดแคลนในบางบทบาทในขณะที่กำลังลดพนักงานในส่วนอื่น
ในปี 2565 บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ขาดแคลนมาก ซึ่งอาจยิ่งรุนแรงในปี 2566 นี้ ดีลอยท์คาดการณ์ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ที่มีราว 2 ล้านคนทั่วโลกจากปี 2564 ต้องเพิ่มอีกกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2573 หรือเพิ่มปีละกว่า 1 แสนคน บริษัทผลิตชิปยังมีความท้าทายด้านบุคลากรจากความต้องการเร่งด่วนในการสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในหลายภูมิภาค จึงจำเป็นต้องเร่งการจ้างงานหลากหลายทักษะ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างวางท่อ ช่างเชื่อม วิศวกรด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติในโรงงานอัจฉริยะ และ วิศวกรไฟฟ้าที่จบการศึกษาเฉพาะทาง เป็นต้น
5. จัดตั้งและมุ่งสู่เส้นทางการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG และความยั่งยืน
กระบวนการผลิตชิปจะต้องใช้พลังงาน น้ำ และ ก่อก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นด้วย ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีแนวโน้มที่จะคิดเป็น 20% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก ดังนั้น นักลงทุน ลูกค้า บอร์ดบริหาร และ หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องการการเปิดเผยด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และ แนวทางการลดที่โปร่งใสและครอบคลุมมาก ผู้ผลิตชิปบางรายได้นำเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถรีไซเคิลและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เพื่อผลิตพลังงานสำหรับอาคารสำนักงานและโรงงานผลิตของตน นอกจากนี้ การใช้น้ำและพลังงานให้น้อยลงไม่เพียงแต่ลด ESG footprint เท่านั้น แต่ยังสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้เนื่องจากการใช้จ่ายทรัพยากรลดลง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อผลกำไรในอนาคต
สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากล่าวว่า การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (IC) และกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (O-S-D) อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของไทยปรับตัวดีขึ้นจากการนำเข้ากลุ่ม IC เพิ่มขึ้นจาก 4.8 แสนล้านบาทในปี 2564 เป็น 6.7 แสนล้านบาท ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 38% ซึ่งการนำเข้าในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 นำเข้าจากไต้หวันเป็นหลักที่ 75,126 ล้านบาท สำหรับกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 25% และการนำเข้าในเดือน มกราคม-เมษายน 2566 ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ 25,042 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการแยกเทคโนโลยีระหว่างจีนกับตะวันตก เช่น การที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนก็ส่งผลกระทบต่อไทยเช่นกัน TDRI ระบุว่าการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งการใช้เซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่เป็นการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณที่สดใส การกระจายการจัดหาชิปจากไต้หวันและจีนไปยังสมาชิกอาเซียนของสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกชิปกลุ่ม O-S-D ของไทยไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 145% จาก ม.ค.-เม.ย. 2565 ถึง ม.ค.-เม.ย. 2566 สู่ยอด 29,299 ล้านบาท
หมายเหตุ บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย ปาริชาติ จิรวัชรา พาร์ทเนอร์ ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง และทัศดา แสงมานะเจริญ Senior Consultant-Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย
ข่าวเด่น