ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 - 7 ก.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเผชิญความผันผวน หลังเขตเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ ส่งผลนักวิเคราะห์คาดรัฐบาลจีนมีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม FGE และ Energy Aspects ยังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในครึ่งปีหลังยังได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมามีความไม่แน่นอนอีกครั้ง ทำให้ตลาดกลับมาจับตาผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC ต่อมุมมองการปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ก.ค. 66
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังเขตเศรษฐกิจหลักของโลก อันได้แก่ สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และอังกฤษ ยังคงเผชิญกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50-5.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเช่นเดียวกัน หลังอัตราเงินเฟ้อของเขตเศรษฐกิจดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2%
ตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งประกาศออกมาในเดือน พ.ค. ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและความต้องการใช้น้ำมันโลก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดรัฐบาลจีนมีแนวโน้มดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะ 1 และ 5 ปี ลง 0.1% แล้วก็ตาม ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวกับการลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์และการกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ อาจถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
รายงาน FGE (27 มิ.ย.) บ่งชี้ว่าเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่เที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับ 40% หลังได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าในบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งส่งผลให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม FGE คาดการณ์ว่าเที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศจะอยู่ที่ระดับ 60-65% ในช่วงสิ้นปี และปรับขึ้นสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงกลางปี 2024 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะเป็นแรงหนุนหลักต่อการเติบโตของอุปสงค์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
Energy Aspects คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันยังคงได้แรงสนับสนุนจากการใช้น้ำมันอากาศยานและการใช้ในภาคธุรกิจปิโตรเคมี แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเติบโตช้าลง จากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความต้องการใช้น้ำมันของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีที่มีแนวโน้มเติบโตช้าลง ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2023 เติบโตที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เสถียรภาพของรัฐบาลรัสเซียเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังมีก่อการจลาจลของกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ภายในประเทศ แม้ล่าสุดหัวหน้ากลุ่มทหารวากเนอร์จะลี้ภัยไปยังเบลารุสแล้วก็ตาม ขณะที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ยังคงกังวลว่ากองกำลังวากเนอร์ในเบลารุสอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติสมาชิกอื่นๆ ได้ โดยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในภูมิภาค นอกจากนี้ ล่าสุดรัสเซียประกาศขยายเวลาการห้ามขายน้ำมันรัสเซียให้กับประเทศที่ใช้มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย (Price Cap) จากเดิมสิ้นสุดเดือน มิ.ย. ไปเป็นสิ้นปี 2566
ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ก.ค. ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งคาดว่าอาจมีการเจรจาเกี่ยวข้องการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยล่าสุดกลุ่ม OPEC ยังคงไม่อนุญาตให้สำนักข่าว Reuters, Bloomberg และ Wall Street Journal เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีผู้จัการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 66 และดัชนียอดค้าปลีกของสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 66
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 - 30 มิ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 23 มิ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 9.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 453.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 1.8 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงสนับสนุนเพิ่มเติมหลังประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวในที่ประชุม China Development Forum ว่าความต้องการใช้น้ำมันของจีนและอินเดียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเขตเศรษฐกิจหลักยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น