เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบมีทรงตัวในระดับสูง หลังซาอุฯ และรัสเซียปรับลดการผลิตและส่งออก"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 - 7 ก.ค. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวจากการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุฯ ไปอีก 1 เดือน และรัสเซียปรับลดการส่งออกเพิ่มเติมในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุปทานค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น รวมถึง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตลดลง ขณะที่ภาคบริการเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง
 
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
 
อุปทานการผลิตและการส่งออกน้ำมันของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 66 แทน) ขณะที่รัสเซียประกาศลดการส่งออกลงในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งการปรับลดกำลังการผลิตและการส่งออกของทั้ง 2 ประเทศหลักจะทำให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น
 
 
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขับขี่ของสหรัฐฯ ยังคงเติบโตขึ้นในช่วงวันชาติอเมริกา ประกอบกับ การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.4 ล้านบาร์เรล
 
 
จับตาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์นี้ จะส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ธนาคารกลางทั้งสองมีแนวโน้มที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปเพิ่มเติมและจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ
 
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ คาดจะทรงตัวในระดับสูง โดยล่าสุดผู้ผลิตเริ่มกลับมาเพิ่มการขุดเจาะขึ้นอีกครั้ง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 680 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 สัปดาห์
 
 
เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในเดือน มิ.ย. 66 ยังคงชะลอตัวลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 และดัชนีภาคบริการปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.2 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 54.5 
 
 
รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมเข้าซื้อน้ำมันดิบเข้าคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพิ่มเติมสำหรับการส่งมอบน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. – พ.ย. 66 ที่ราว 6 ล้านบาร์เรล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเข้าซื้อรวมทั้งสิ้นกว่า 6.3 ล้านบาร์เรลแล้ว โดยในปีนี้คาดรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าซื้อรวมทั้งสิ้นราว 12.3 ล้านบาร์เรล
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตจีน เดือน มิ.ย. 66 ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 66 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน พ.ค. 66
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ก.ค. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากซาอุดิอาระเบียประกาศขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นสุดเดือน ส.ค. 66 แทน ขณะที่ รัสเซียประกาศลดการส่งออกลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 66 นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงสนับจากการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน มิ.ย. 66 ของสหรัฐ และจีน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 และ 49.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า 
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2566 เวลา : 11:39:36
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 3:29 pm