‘ภาคการท่องเที่ยว’ นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างรายได้ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียนมาช้านาน เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศ ด้วยสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพีประเทศไทย และ 5.7% ของจีดีพีของอินโดนีเซีย ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ดังนั้น การฟื้นคืนของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศแล้วกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสทองสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนอีกครั้ง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกลับมาของภาคการท่องเที่ยวในครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทายที่แตกต่างออกไปจากเดิม แม้จะมีแนวโน้มการจองทริปนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ความชอบของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะเริ่มมองหาประสบการณ์เสมือนเป็นคนในพื้นที่ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวพร้อมการดูแลสุขภาพ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากขึ้น ขณะเดียวกันยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ทั้งต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ข้อจำกัดด้านแรงงาน ความสามารถให้บริการของอุตสาหกรรมการบิน อัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โอกาสนี้ ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank) จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “ยุคใหม่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว: ปรับตัวอย่างไรให้ตรงใจนักเดินทาง” (The New Age of Tourism: How to Ride the New Wave) เพื่อเป็นเวทีสำหรับแบ่งปันมุมมอง ข้อคิดเห็น และข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริหารธุรกิจและองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจท่องเที่ยว
“ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” คือหนึ่งในธุรกิจที่คว้าโอกาสทองนี้อย่างรวดเร็ว ด้วยแผนการเปิดโรงแรมใหม่ 65 แห่งภายในปี 2568 พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ย 12-15% ภายใต้กลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวด้วยการปรับตัวเข้ากับเทรนด์การเดินทางทั่วโลกท่ามกลางปัจจัยความท้าทายมากมายของภาคธุรกิจบริการ
เมื่อโลกของการเดินทางกลับมาอีกครั้ง นี่จึงเป็นจังหวะของ “Traveloka” แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของอาเซียนที่กำลังปรับโฟกัสจากแค่ประคองธุรกิจให้ยืนระยะได้ต่อไป สู่การเติบโตและปลดล็อกคุณค่าของธุรกิจตนเองด้วยการสร้างพันธมิตร โดยอาศัยความคล่องตัว ความยืดหยุ่น ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และปรับตัวเองให้เข้ากับท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่
ความพยายามปรับตัวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาฮ่องกงอีกครั้ง หลังก้าวข้ามมรสุมใหญ่จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ “ท่าอากาศยานฮ่องกง” ต้องเร่งทำงานอย่างหนักในทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่ามีแผนงานที่ครบถ้วนรอบด้าน สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมสำหรับการยึดตำแหน่ง “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและการเดินทาง” ให้อยู่กับฮ่องกงต่อไป
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสนี้ ธนาคารกรุงเทพ และ Permata Bank ขอเชิญชวนลูกค้าและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “ยุคใหม่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว: ปรับตัวอย่างไรให้ตรงใจนักเดินทาง” (The New Age of Tourism: How to Ride the New Wave) โดยได้รับเกียรติจาก 3 ผู้บริหารธุรกิจชั้นนำระดับภูมิภาคดังกล่าว เข้าร่วมแบ่งปันมุมมองในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- นายดิลลิป ราจากาเรียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม ไมเนอร์ อินเตอร์เนชันแนล (Mr.Dillip Rajakarier, Groupo CEO, Minor International)
- นายอัลเบิร์ต ผู้ร่วมก่อตั้ง ทราเวลโลก้า (Mr.Albert, Co-founder Traveloka)
- นายแจ็ก โซ จัก-กวง, ประธานการท่าอากาศยานฮ่องกง (Mr.Jack So Chak-kwong, Chairman, Airport Authority Hong Kong) และดำเนินรายการโดย
- ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Dr. Kobsak Pootrakul, SEVP, Member of the Board of Executive Directors and Corporate Secretary, Bangkok Bank)
การสัมมนาออนไลน์ จะจัดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.30-16.45 น. ลูกค้าและผู้สนใจสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงทะเบียนร่วมการสัมมนาได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 13 กรกฎาคม 66 หรือ รับชมการถ่ายทอดสดได้ผ่านช่องทาง YouTube AEC Connect Live.
### อำนวยความสะดวกแปลภาษาอังกฤษ-ไทย แบบล่ามพูดพร้อม (Simultaneous interpretation)
มาร่วมไขโจทย์ธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเที่ยวยุคหลังโควิด และสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ธนาคารกรุงเทพ “เพื่อนคู่คิด” ที่พร้อมเดินเคียงข้างธุรกิจของคุณ./
หมายเหตุ: ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์และดำเนินการรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank) โดยได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) อย่างเป็นทางการ (มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563) นับเป็นการผสานจุดแข็งด้านเครือข่ายในประเทศและภูมิภาคระหว่างสองธนาคารเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยธนาคารเพอร์มาตาขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 10 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย (เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม) ที่มีความพร้อมในการให้บริการและสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตและในช่วงเวลาที่ผันผวนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ข่าวเด่น