ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment วิเคราะห์สถานการณ์ราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2566 เผยยังได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) คาดอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลังนี้โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 1 ในปลายเดือนกรกฎาคม
นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวถึงสรุปสถานการณ์ราคาทองในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ระดับ 1,910 usd/oz ขณะที่ราคาทองในประเทศ ราคาทองคำแท่ง 96.5% ขายออกต่ำสุดบาทละ 31,900 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกต่ำสุดบาทละ 32,400 บาท อ้างอิงราคาจากสมาคมค้าทองคำ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังเฟดส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่ออย่างน้อยอีก 2 ครั้งภายในครึ่งปีหลังนี้ เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นอกจากนี้ยังมีธนาคารกลางหลายแห่งก็พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน การลงทุนในทองคำจึงถูกลดความน่าสนใจลง เนื่องจากทองคำไม่มีผลตอบแทนอยู่ในรูปของดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามเมื่อดูสถิติย้อนหลัง 5 ปี ล่าสุดทองยังเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้น การลงทุนสินทรัพย์ประเภททองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและน่าลงทุนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“สำหรับสถานการณ์ราคาทองคำในช่วงเดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่าน่าจะมีอีก 5 ปัจจัยผลกระทบที่ต้องจับตามองในเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์ภาวะความตึงเครียดของรัฐเซีย เป็นต้น ซึ่งราคาทองคำภายในเดือนนี้ หลัก ๆ คือยังได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) คาดอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลังนี้โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 1 ในปลายเดือนกรกฎาคม แม้ว่าวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะใกล้สิ้นสุดแล้ว แต่พึงระวังผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจ อาจทำให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการสูงขึ้น ในช่วงการเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเนื่องด้วยการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะลดลงแตะระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2024 และแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปี 2025 ออสสิริสมองว่า ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าในปีหน้าและทองคำจะส่งสัญญาณปรับตัวขึ้น” นายพีระพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามออสสิริสได้วิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ในช่วงวันที่ 7 กรกฎาคม ต้องติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ว่าตัวเลขแรงงานยังแข็งแกร่งหรือไม่ ซึ่งจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่เฟดจะใช้ในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ หากตัวเลขแรงงานออกมาดี อาจเพิ่มแนวโน้มโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ (ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ)
ประเด็นที่ 2 ช่วงวันที่ 12 กรกฎาคม จับตาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 4.0% ซึ่งอย่างไรก็ตามยังห่างจากของเป้าของเฟดอยู่ที่ 2% ทำให้มองแนวโน้มว่าเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยต่อในครึ่งปีที่เหลืออีก 1-2 ครั้ง หรืออีก 5.25%-5.50% ต้องมาติดตามกันต่อในส่วนของตัวเลขเดือนกรกฎาคมว่า เงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หากปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกดดันให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ (ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ)
กราฟแสดง ความเคลื่อนไหวอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2022 ถึงปัจจุบัน ล่าสุดอยู่ที่ 4.0% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021
ประเด็นที่ 3 ในวันที่ 27 กรกฎาคม ต้องจับตาการประชุมเฟด คาดการณ์ว่า เฟด มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.25% และอาจส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อหากตัวเลขแรงงานยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังห่างเป้าหมายที่ระดับ 2% อาจทำให้ราคาทองถูกกดดันต่อ ทั้งนี้ในตรงกันข้าม หากเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาทองจะได้แรงหนุนกลับมาเป็นบวกทันที ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย เนื่องจากต้นทุนจำนองเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาคสถาบันการเงินอาจเสี่ยงล้มเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่คงตัวอยู่ในระดับสูง
สำหรับถ้อยแถลงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เมื่อเดือนที่ผ่านมา เฟดมองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยอาจปรับขึ้นอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปี หากเศรษฐกิจปรับตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคาดการณ์ ช่วงปลายปีอยู่ในกรอบ 5.50-5.75%
สำหรับดอกเบี้ยสหรัฐล่าสุดอยู่ที่ 5.25% ล่าสุดวันที่ 27 มิถุนายน 2023 Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 75.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50% ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนนี้ (ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ)
กราฟแสดง ความเคลื่อนไหวอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2022 ถึงปัจจุบัน
ประเด็นที่ 4 ในวันที่ 28 กรกฎาคม จับตาดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) สหรัฐอเมริกา ซึ่งวัดค่าการเปลี่ยนแปลงราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (อัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งจะเป็นมาตรวัดตัวหนึ่งที่เฟดใช้ประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในครั้งถัดไป
ในด้านปัจจัยอื่น ๆ
1. สถานการณ์ตึงเครียดในรัสเซียและความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ
ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
2. สถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกจะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนทองคำลดลง เนื่อง
จากทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย
3. ข้อมูลเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ความต้องการทองคำยังไม่ฟื้นตัว
4. ซาอุดิอาระเบียประกาศหลังการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสว่า จะลดกำลังการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในเดือนกรกฎาคม อาจทำให้ภาพรวมเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับสถิติที่น่าสนใจสำหรับราคาทองในตลาดโลก ราคา High และ Low เดือนกรกฎาคมในแต่ละปี 10 ปีย้อนหลัง
1. ราคาทองมีความผันผวนสูง ส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดของเดือนมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 96.7 ดอลลาร์ต่อออนซ์
2. ราคาทองทองคำส่วนใหญ่จะปิดบวกในกรกฎาคมเมื่อเทียบกับราคาปิดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 60%
กราฟแสดง High และ Low สำหรับราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงเดือนกรกฎาคมในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2013-2022
และในประเด็นที่ 5 คือแนวโน้มราคาทองคำในมุมทางเทคนิค โดยราคาทองคำเคลื่อนไหวในรูปแบบ Sideway Down หลังปรับตัวหลุดโซนแนวรับสำคัญที่คาดการณ์ไว้ แนวโน้มราคาทองคำยังอยู่ในช่วงพักตัวในกรอบ 1,910-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังหลุดกรอบเทรนด์ไลน์ขาขึ้นใน TF1DAY ทำให้ภาพรวมราคาทองกลับมาเคลื่อนไหวขาลง ทั้งนี้แนวรับ 1,910 จะเป็นแนวรับสำคัญประจำเดือนกรกฎาคม หากหลุดแนวรับดังกล่าว คาดว่าจะมีแรงเทขายออกมามากและอาจปรับตัวลงไปที่แนวรับ 1,900/1,876/1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้หากราคาทองคำสามารถกลับตัวบริเวณแนวรับดังกล่าว เราอาจเห็นราคาทองกลับมาทดสอบแนวต้านบริเวณ1,940/1,968/1,986 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง โดยขาขึ้นจะกลับมาได้เปรียบอีกครั้งต้องเบรกเหนือแนวต้าน 1,986 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ/แนวต้าน เดือนกรกฎาคม 2566
แนวต้าน R1:1,940 / R2:1,968 / R3:1,986 / R4:2,000
แนวรับ S1:1,900 / S2:1,876 / S3:1,868 / S4:1,850
ข่าวเด่น