ธนาคารกรุงเทพ คว้า 2 รางวัลระดับโลกด้านความยั่งยืน จาก Global Finance และอีก 1 รางวัลจาก FinanceAsia ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการเงินระดับโลกและระดับภูมิภาค สะท้อนความสำเร็จของธนาคารในฐานะ ‘สถาบันการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค’ ที่มีความเชี่ยวชาญ-ประสบการณ์-มุ่งมั่นสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าผลักดันการพัฒนาธุรกิจใน 5 มิติหลัก พร้อมเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่ร่วม ‘สรรค์สร้างคุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืน’
นายประเสริฐ ดีจงกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายทุนธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพได้รับรางวัลด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล Best bank for sustainable finance in Thailand และ Outstanding Leadership in ESG-Related Loans for Asia-Pacific จาก Global Finance’s Sustainable Awards 2023 จัดโดย Global Finance นิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับรางวัล Best Sustainable Bank in Thailand จาก FinanceAsia Awards 2023 จัดโดย FinanceAsia นิตยสารชั้นนำด้านการเงินและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของธนาคาร ในฐานะ ‘สถาบันการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค’ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านธุรกิจการเงิน รวมถึงมีความความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพิจารณาให้รางวัลดังกล่าวอาศัยหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืน เช่น การกำหนดนโยบายและมาตรฐานการทำงานขององค์กร การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) การกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน การวัดผลด้านการให้บริการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนความสำเร็จของผลงานที่เกิดขึ้น และการมีหน่วยงานหรือองค์กรซึ่งเป็นบุคคลที่สามเป็นผู้ประเมินผล
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการระดมทุนให้แก่กิจกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของภาครัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำในประเทศไทย ผ่านการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) โดยในปี 2565 ตลาดทุนไทยมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ด้าน ESG รวม 157,463 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าธุรกรรมที่ธนาคารเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย 119,145 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย และธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจพลังงานทดแทน ยอดรวมจำนวน 8.81 หมื่นล้านบาท และในปีเดียวกันนี้ ธนาคารยังได้ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.1 ของวงเงินกู้ร่วมสำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่ 2 สายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการสินเชื่อพิเศษเพื่อเอสเอ็มอี โดยได้สนับสนุนสินเชื่อบัวหลวงกรีน (Bualuang Green Loan) วงเงินรวมกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ รวมถึงในปี 2566 นี้ ธนาคารได้สนับสนุนบัวหลวงกรีน Solar Energy (Bualuang Green Solar Energy) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ภายใต้ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (Transformation Loan) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) ด้านการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
“ธนาคารกรุงเทพมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง และในฐานะสถาบันการเงินจึงมีบทบาทที่จะต้องเข้าใจและสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับนโยบาย ไปจนถึงการประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการธุรกิจและเกิดผลลัพธ์ที่ดี จึงนับเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่ชี้ให้เห็นว่าเรามาถูกทาง เราผ่านการพิจารณาที่เข้มงวดจนสามารถคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่สนับสนุนให้เรามุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจการเงินบนพื้นฐานความยั่งยืนต่อไป”
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในระดับการกำหนดนโยบายธุรกิจ จึงผสมผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ธนาคารจึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่ธุรกิจที่มีความต้องการยกระดับธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘Creating Value for a Sustainable Future’ หรือ ‘สรรค์สร้างคุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืน’ ซึ่งประกอบด้วยความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืนทั้ง 5 มิติ ดังนี้
1.) Be Responsible-การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งผสมผสานแนวคิดความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเป็นผู้นำด้านรับประกันการจัดจำหน่ายตราสารหนี้เพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง Green Bond, Social Bond และ Sustainable Bond หรือ Sustainability-linked Bond
2.) Be Resilient- การรับมือกับภาวะวิกฤต ซึ่งสอดคล้องกับการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่พร้อมเคียงข้างลูกค้าในทุกสถานการณ์ รวมถึงการดูแลลูกค้าและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับความต้องการความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ครอบคลุมทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว และในขณะเดียวกันยังสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนและหนี้ SME ด้วย
3.) Be Caring-การใส่ใจดูแลสังคม ซึ่งเป็นการตอบแทนกลับสู่สังคมผ่านโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ เช่น โครงการบัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย การพัฒนาเยาวชน และการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา
4.) Be Customer Centric-การให้บริการที่ยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยตั้งต้นจากการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ก่อนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ โครงการสำคัญคือ บริการ Cross-border QR Payment ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ สามารถชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ด้วยการสแกน QR Code ณ ร้านค้าในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องใช้เงินสดและแลกเปลี่ยนเงินตรา ปัจจุบันธนาคารได้ให้บริการดังกล่าวในหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา
5.) Be Ethical-การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจการเงินที่ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือไว้วางใจจากลูกค้า
“ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณค่าเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผล และการสนับสนุนให้ลูกค้าประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน เรามีตัวอย่างความสำเร็จมากมายที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำงานจริง ซึ่งตอกย้ำจุดยืนในการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุม และพร้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าวสรุป
ข่าวเด่น