หุ้นทอง
Cyber Attack โจรที่ติดตามตัวไปทุกที่ กับ Cyber Security ที่ทุกคนต้องรู้


สรุปประเด็นสำคัญ:

· ณ ช่วงต้นปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 61.21 ล้านคน หรือ 85.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 64.4% และคนไทยใช้เวลาในระบบอินเทอร์เฉลี่ยคนละ 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าคนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต สูงสุดติด 10 อันดับแรกของโลก และมีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตผ่านมือมากยิ่งขึ้น หรือสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์ได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์รุนแรงขึ้น เสมือนเปิดประตูหน้าหาข้อมูลและโอกาส แต่หากขาดความระมัดระวังก็เสมือนเปิดประตูหลังต้อนรับโจร

 

· ขณะที่มูลค่าความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2566 มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สรัฐ ในปี 2568 ซึ่งหน่วยงานทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการปัญหาด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ สอดคล้องกับจากการสำรวจของ World Economic Forum ปีล่าสุดที่เปิดเผยว่า 95% ของผู้นำองค์กรยอมรับว่าความปลอดภัยด้านไซเบอร์มีความสำคัญ ควรนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร

 

· ในประเทศไทยภัยคุกคามของอาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากการรับแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับภัยคุกคามของอาชญากรรมทางไซเบอร์ในช่วง 1 ปีที่เปิดให้บริการ พบว่า มีจำนวนคดี 218,210 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 31,579 ล้านบาท หรือ 85 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายในระดับบุคคลในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ คดีเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า การปล่อยกู้นอกระบบผ่านแอพพลิเคชั่น การหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น

 

· ในส่วนความเสียหายในระดับองค์กรหรือหน่วยงานตามการรายงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศปช.) เปิดเผยว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 551 เหตุการณ์ โดย 2 ใน 3 เป็นการโจมตีโดยการแฮ๊กเว็บไซต์ (Hacked website) ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานสำคัญ เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และนอกจากนี้ยังมีการคุกคามอื่นๆ ที่บริษัทเอกชนได้รับผลกระทบ อาทิ การขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลหรือระบบงาน การรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งบางกรณีใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

 

· ทุกภาคส่วนควรตระหนักถึงภัยคุกคามและร่วมมือกันป้องกัน ร่วมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) โดยตระหนักถึงภัย ระวังตัว ไม่ชัวร์ ไม่ Click ไม่แชร์ และทุกคนควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่มีการลงทุนใดให้ผลตอบแทนเกินจริงหรือการลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทน” ดังนั้น อย่าหลงเชื่อ ต้องตรวจสอบข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ให้ตั้งสติ อย่ารีบร้อนเร่งลงทุนตามการเร่งให้ลงทุนหรือเร่งให้ทำธุรกรรม ก็จะช่วยลดโอกาสในการถูกคุกคามทางไซเบอร์ได้ 

เทคโนโลยีก้าวไกลตามไปทุกที่ ประชาชนไทยเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์รุนแรงขึ้น เสมือนเปิดประตูหน้าหาข้อมูลและโอกาส แต่หากขาดความระมัดระวังก็เสมือนเปิดประตูหลังต้อนรับโจร

ปัจจุบัน “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 (COVID-19) ที่ประชาชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยทำกิจกรรมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต (on-line communication) การทำงานทางไกล (remote station) การประชุม / การสัมมนาออนไลน์ (e-meeting
and virtual seminar) การเรียนออนไลน์ (online study) การรับตรวจวินิจฉัย และรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเกี่ยวกับอาการป่วยเบื้องต้น ที่ไม่รุนแรงผ่านระบบออนไลน์ (telemedicine / e-Health) การซื้อขายหรือ ทำธุรกรรมผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ (Shopping on e-marketplace) ซึ่งจากรายงาน Digital 2023 ที่จัดทำโดย CrowdStrike Holdings, Inc.1 เปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ ต้นปี 2566 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยรวมสูงถึง 61.21 ล้านคน หรือคิดเป็น 85.3% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการเข้าถึง 64.4%

และผลการศึกษาจาก “รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2565” ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม ประจำปี 2565 (Thailand Internet User Behavior 2022)2 เปิดเผยว่า

· คนไทยใช้เวลาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยคนละ 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน โดยเฉพาะในวันหยุดคนไทยใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมง 27 นาที ซึ่งถือว่าคนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตสูงสุดติด 10 อันดับแรกของโลก3

· กิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร การดูหนัง/ฟังเพลง การซื้อขายของ การทำธุรกรรม ทางการเงิน และการอ่านข่าว โพสต์บทความ หนังสือ

· 3 อุปกรณ์หลัก (devices) ที่นิยมใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (97.07%) รองลงมา คือ แท็บเล็ต (Tablets) (19.35%) และแล็ปท็อป / โน้ตบุ๊ก (Laptop / Notebook computer) (18.42%)

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความครอบคลุมของสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็มีความสำคัญ ซึ่งจากข้อมูลเปิดเผยโดยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยังชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสัญญาณโทรศัพท์มือถือครอบคลุมมากกว่า 90% ของพื้นที่ประเทศไทย และในพื้นที่ที่สัญญาณมือถือเข้ายังไม่ถึงประชาชนก็ยังสามารถต่อเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนไทยมีความสะดวกสามารถทำธุรกรรมในเกือบทุกที่และตลอดเวลา ขณะเดียวกันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกรวดเร็ว เราก็คอยสอดส่องระมัดระวังอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime / Cyber Attack) เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายให้เราในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

หน่วยงานทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการจัดการปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ หลังการคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าความเสียหายทั่วโลกจากอาชญากรรมทางไซเบอร์จะพุ่งสูงถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สรัฐ

Cybercrime หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ คือ เป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียงทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และระดับประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund: IMF) ได้เผยแพร่รายงาน “The Global Cyber Threat” ในปี 25644 ได้ให้ความเห็นว่า “การคุกคามทางไซเบอร์เป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อระบบการเงินที่เพิ่มขึ้น และต้องอาศัยประชาคมโลกร่วมมือป้องกัน” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินโครงการของธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการจัดตั้งกองทุนชื่อ CybersecurityMulti-Donor Trust Fund5 ภายใต้โครงการ Digital Development Partnership Umbrella หรือDDP เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุกคามด้านไซเบอร์ และการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในการสร้างหรือช่วยเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคงปลอดภัย (Cyber Resilience)

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์จากสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา

จากเว็บไซต์ของสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงภายในของประเทศสหรัฐอเมริกา6 ได้อธิบายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ไว้เบื้องต้น ดังนี้

· การหลอกลวงโดยการส่งอีเมล์ด้านธุรกิจ (Business email compromise: BEC) อาศัยข้อเท็จจริงที่ปัจจุบันมีการใช้อีเมล์ในการติดต่อทั้งในเรื่องส่วนตัวและธุรกิจ และเป็นหนึ่งในอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเสียหายทางการเงินมากที่สุด

· การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Identity theft) เป็นอาชญากรรมที่เก่าแก่และยังคงมีอยู่ อาศัยความประมาทจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและระบบอินเทอร์เน็ตที่มีป้องกันไม่ดี เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว อาทิ เลขที่บัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัตรเครดิต อีเมล์ เป็นต้น และนำก่อคดีสร้างความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลโดยเจ้าของข้อมูลมิได้รับทราบหรือยินยอม เช่น การนำไปขอสินเชื่อ / ซื้อขายผ่านบัตรเครดิต

· โปรแกรมการจับข้อมูลเป็นประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ (Ransomwares) เป็นการเขียนโปรแกรม (software and malwares) เพื่อกีดกันไม่ให้เจ้าของข้อมูลหรือระบบงานสามารถเข้าถึงข้อมูล ระบบงาน หรือเครือข่ายของตนเองได้ และต้องการให้เจ้าของข้อมูลหรือระบบงานจ่ายค่าไถ่เพื่อให้สามารถกลับมาเข้าถึงข้อมูลหรือเครือข่ายของตนได้อีกครั้ง

· การหลอกลวงให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปิดเผยข้อมูลละเอียดอ่อนโดยการส่งข้อความผ่านทางอีเมลหรือข้อความสั้นผ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ (Spoofing and phishing) อาศัยความไว้วางใจที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีต่อหน่วยงานที่ให้ความไว้วางใจ หลอกลวงให้กรอกข้อมูลสำคัญ อาทิ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน โดยนักต้มตุ๋นสามารถนำไปใช้ก่ออาชญากรรมทางการเงินต่อไป
 
มูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลกพุ่ง คาดว่าในปี 2566 มูลค่าความเสียหายฯ จะสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สรัฐ ในปี 2568
 
จากรายงาน “2022 Official Cybercrime Report” ที่จัดทำโดยบริษัท Cybersecurity Ventures7 ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลก8 จะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 (ภาพที่ 1) และประเมินว่า ในปี 2566 แต่ละวันทั่วโลกจะเกิดความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์รวมกันมีมูลค่าสูงถึง 21.9 พันล้านดอลลาร์สรัฐ หรือ ประมาณ 771.5 พันล้านบาทต่อวัน โดยเฉพาะความเสียหายจาก Ransomware ที่ Cybersecurity Ventures ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2574 จะมีมูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 265 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ภาพที่ 2)

 
จากความร้ายแรงของการคุกคามด้านไซเบอร์ หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากรายงาน Global Cybersecurity Outlook 2023 ของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 25669 ได้เปิดเผยว่า 95% ของผู้นำองค์กรยอมรับว่าความปลอดภัยด้านไซเบอร์มีความสำคัญควรนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร (organization’s enterprise risk-management strategic) และพิจารณาเพิ่มการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทาง ไซเบอร์ (cyber-resilience governance) เข้าไปในแผนธุรกิจขององค์กรด้วย

นอกจากนี้ จากรายงาน “Industries boost cyber defenses against growing number of attack” ที่จัดทำโดยบริษัทมูดีส์ อินเวสเตอส์เซอร์วิส (Moody’s)10 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางไซเบอร์ ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น หน่วยงานให้บริการไฟฟ้า ประปา โรงพยาบาล ผู้ให้บริการเครือข่ายและเทคโนโลยีการสื่อสาร หน่วยงานของรัฐ เป็นต้น

ในประเทศไทยมีภัยคุกคามของอาชญากรรมทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ในช่วง 1 ปี มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 85 ล้านบาทต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายระดับบุคคล ขณะที่ความเสียหายระดับองค์กร / หน่วยงานส่วนใหญ่เป็นการแฮ็กเว็บไซต์ โดยเป้าหมายการโจมตี คือ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรตระหนักถึงภัยคุกคามและร่วมมือกันป้องกัน

ในประเทศไทยมีภัยคุกคามของอาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการรับแจ้งความผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2565 หรือในช่วง 10 เดือนแรกที่เปิดระบบให้บริการประชาชน พบว่า มีผู้เข้ามาแจ้งความ 163,091 คดี มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 27,305 ล้านบาท หรือมีมูลค่าการเสียหายสูงถึง 91 ล้านบาทต่อวัน11 โดยกว่า 50% ของมูลค่าความเสียหาย หรือประมาณ 15,800 ล้านบาท เป็นการหลอกลวงผ่านแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผ่านทางออนไลน์ด้วยวิธีการต่างๆ ตามมาด้วยคดีเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า การปล่อยกู้นอกระบบผ่านแอพพลิเคชั่น การหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,230 ล้านบาท และอันดับที่ 3 คือ แฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ การคุกคามทางเพศ หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศและความเสียหายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 1 ปีนับจากเปิดระบบรับให้บริการพบว่า จำนวนคดีสูงถึง 218,210 คดี มีมูลค่าความเสียหายรวม 31,579 ล้านบาท หรือมีมูลค่าการเสียหายสูงถึง 85 ล้านบาทต่อวัน

เมื่อพิจารณาความเสียหายจากคดีที่แจ้งความผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายในระดับบุคคลทั้งนี้อาจเนื่องจากกรณีความเสียหายโดยตรงต่อหน่วยงานหรือองค์กร หน่วยงานจะประสานงานขอความช่วยเหลือโดยตรงจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศปช.) ภายใต้สํานักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งจากจากรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ที่จัดทำโดย ศปช. เปิดเผยสถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน2565 พบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 551 เหตุการณ์12 (ตารางที่ 1) พบว่า

· 2 ใน 3 เป็นการโจมตีโดยการแฮ๊กเว็บไซต์ (Hacked website) ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานสำคัญเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งมีเว็บไซต์และระบบงานต่างๆ ที่ให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก และหน่วยงานต่างๆ ที่มีระบบไอทีเป็นเอกเทศ ยากต่อการดูแลจากหน่วยงานกลาง ขาดความสม่ำเสมอในการตรวจสอบความปลอดภัย ทำให้ง่ายต่อการโจมตี

o เหตุการณ์ที่พบมากที่สุด คือ การแฮ๊กเว็บไซต์เพื่อแฝงหน้าเว็บไซต์พนันออนไลน์ (gambling website) ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพื่อให้ผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์สามารถเข้าถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์เพิ่มขึ้น
 
o ตามมาด้วย การโจมตีโดยการเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ (website defacement) ของหน่วยงาน เพื่อทดสอบความสามารถของแฮ็กเกอร์หรือเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของการเมืองของกลุ่มต่างๆ และ
 
o การสร้างหน้าเว็บไซต์เพื่อ Phishing อยู่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ และการฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานเพื่อหลอกให้ผู้เข้าถึงเว็บไซต์ดาวน์โหลดไปติดตั้งในเครื่อง อาทิ การใช้ชื่อโดเมนคล้ายกับหน่วยงานจริงและสร้างหน้าเว็บไซต์คล้ายเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัว
 
 
· รองลงมา คือ จุดอ่อนช่องโหว่ของระบบ (Vulnerability) ซึ่งเหตุการณ์กว่าครึ่งหนึ่งเกิดกับหน่วยงานภาครัฐ
 
· ข้อมูลรั่วไหล (Data Breach) เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐและเอกชนใกล้เคียงกัน
 
· การโจมตีด้วย Ramsomware มีข้อสังเกตว่า เกิดขึ้นกับหน่วยงานสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีทุน จดทะเบียนสูง และกระจายตัวอยู่ในหลายอุตสาหกรรม โดยการโจมตีนี้จะส่งผลให้หน่วยงานเจ้าของระบบ ไม่สามารถใช้ระบบงาน และ/หรือไม่สามารถใช้ระบบงานสำรองได้ ซึ่งการโจมตีแบบ Ramsomware ต้องใช้เวลานานและจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญภายนอกร่วมแก้ไขปัญหา
 
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security): ตระหนักถึงภัย ระวังตัว ไม่ชัวร์ ไม่ Click ไม่แชร์
 
จากความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต และความรุนแรงของภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ ทุกภาคส่วนควรมีการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของภัยคุกคาม และร่วมกันป้องกันและร่วมสร้างความปลอดภัยเพื่อ ลดโอกาสการถูกคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งสรุปแนวทางการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็น ABCD-S เพื่อง่ายต่อการจดจำและนำไปใช้ (ภาพที่ 4) ดังนี้
 
 
นอกจากการเตรียมตัว ตระหนักถึงภัย ระวังตัวตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้ว จากการแจ้งความออนไลน์ที่มีคดีเรื่องการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ที่มีจำนวนมาก ทุกคนควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่มีการลงทุนใดให้ผลตอบแทนเกินจริงหรือการลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทน” ดังนั้น อย่าหลงเชื่อ ต้องตรวจสอบข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ให้ตั้งสติ อย่ารีบร้อนเร่งลงทุนตามการเร่งให้ลงทุนหรือเร่งให้ทำธุรกรรม ก็จะช่วยลดโอกาสในการถูกคุกคามทางไซเบอร์ได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ค. 2566 เวลา : 18:21:06
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 3:42 pm