หุ้นทอง
ภาคตลาดทุนประกาศเจตนารมณ์ "ร่วมมือ - จับปลอมหลอกลงทุน"


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ก.ล.ต. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” 24 ก.ค. 2566 แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน พร้อมเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อหาทางออกในการจับปลอมหลอกลงทุน ในเสวนา “รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง” โดย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว โดย ก.ล.ต. มีความยินดีอย่างยิ่งกับการริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ซึ่งแสดงให้ เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพหลอกลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ การแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่สามารถจัดการได้โดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกแอบอ้างโดยลำพัง หรือเป็นปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องปรามและปราบปรามไปพร้อมกัน การที่องค์กรต่างๆ ในตลาดทุนและภาครัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ “การออม” หรือ “การลงทุน” สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัย ด้วย “การให้ความรู้ทางการเงิน” กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง “เริ่มต้นที่ตัวเรา” ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

นางสาวอังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้างในการหลอกลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่หลงเชื่อ ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนก็นับเป็นผู้เสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงความน่าเชื่อถือ สมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและจะสื่อสารไปยังบริษัทจดทะเบียนให้ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

 

นายวิรัฐ สุขชัย นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า จากสถานการณ์มิจฉาชีพหลอกลงทุนในปัจจุบัน ด้านผู้ประกอบการที่ถูกแอบอ้างไปหลอกเงินจากประชาชน ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้ใครมาแอบอ้างโดยประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องปกป้องเงินของตนเองไม่ให้ใครมาหลอกลวง โดยสังเกตข้อพิรุธต่าง ๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อสัญญาผลตอบแทนที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งสมาคมฯ จะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนและประชาชนทั่วไปเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยหลอกลงทุนดังกล่าว

 

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความสนใจเรียนรู้และลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพียงแต่ต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในโลกออนไลน์โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่จำนวนมาก ประชาชนต้องพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและผลตอบแทนที่เชิญชวนว่าน่าเชื่อหรือไม่ โดยสมาคมฯ และบริษัทหลักทรัพย์จะร่วมสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อเนื่อง

 

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาเชิญชวนหลอกให้มาลงทุนในกองทุนรวมจำนวนมากโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น และการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาลงทุนในกองทุนรวมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด ดังนั้น ประชาชนผู้พบเห็นโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะแอบอ้างบริษัทหรือผู้บริหารท่านใด อย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด

 

นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของ CMDF คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชน โดย CMDF สนับสนุนทุนในโครงการให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งโครงการเกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันในเรื่องหลอกลงทุนแก่ประชาชนในวงกว้างที่จะเริ่มเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

 

ขอเชิญประชาชน “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เช็ก ชี้ แฉ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยโปรดสอบถามที่องค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2566 เวลา : 18:10:41
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 3:48 pm