นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนใหม่ๆ ที่ครบวงจร และการ Synergy ภายในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และการสนับสนุนจาก CTBC Bank ผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เติบโตได้ดี
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 มีสินทรัพย์สุทธิ 292,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานสุทธิ 1,201.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลังกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน Sustainable Banking การดำเนินธุรกิจอย่างมีสำนึกและมีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลที่ดี การออกผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจ
นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เป็นไปตามแผน โดยธนาคารมุ่งเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นหรือกลุ่ม Higher Yield มีการขยายสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล ภายใต้การจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตมากกว่าร้อยละ 16 จากสิ้นปี 2565 รวมถึงการขยายฐานลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลโดย Mobile Application LHB YOU ที่ตอบโจทย์ การใช้งานของลูกค้าแต่ละบุคคล การออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก B YOU MAX ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีด้วยการนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ และปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาช่องทางการสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านทาง LHB You Mobile banking ซึ่งคาดว่าจะให้บริการภายในปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการสินเชื่อบุคคลได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว
ในส่วนของลูกค้าธุรกิจ ธนาคารมุ่งเน้นให้ลูกค้าใช้ LH Bank เป็น Operating Bank มากขึ้น การประสานการทำงานและทำการตลาดร่วมกันของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เพื่อใช้ฐานลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลที่ยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกค้าแต่ละรายเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด รวมถึงสนับสนุนกลุ่มลูกค้า SME ที่กำลังขยายธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ธนาคารได้นำความเชี่ยวชาญจาก CTBC Bank มาพัฒนาและต่อยอดด้านบริการ Trade Finance และ Global Markets เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต รวมถึงธนาคารยังมุ่งเน้นเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีด้วย Digital Transformation และการนำระบบ Robotic Process Automation มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการนำ Data analytic tools ต่างๆ มาใช้งานในการขยายฐานลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานสุทธิจำนวน 943.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตดีของรายได้ดอกเบี้ย รวมถึงการควบคุมและบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย และบริหารความเสี่ยงได้ดี ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และธนาคารได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตจำนวน 1,011 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 24 ซึ่งธนาคารยังคงตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) ที่แข็งแกร่งที่ร้อยละ 229 ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 2.3 สำหรับด้านเงินกองทุนยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 15.8 อยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund เปิดเผยว่ากลยุทธ์ครึ่งหลังของปี 2566 บริษัทยังคงเน้นขยายฐานลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ทั้งสถาบันและลูกค้ารายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทได้ปรับการดำเนินการในการบริหารกองทุนโดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลและปรับเปลี่ยนกองทุนหลัก (Master Fund) ในหลายกองทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในปัจจุบันและ เพิ่มโอกาสในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเดิม ส่วนกองทุนหุ้นไทยและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/REIT ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อบริการสมาชิกในรูปแบบ Target Date (Life Path) หรือการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนแบบอัตโนมัติ
แผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง บริษัทมีแผนเพิ่มการประกอบธุรกิจทรัสตี ซึ่งปัจจุบันบริษัทปฏิบัติหน้าที่ทรัสตีของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มการประกอบธุรกิจทรัสตีของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) และทรัสต์สำหรับธุรกรรมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Trust for Real Estate – Backed ICO)
นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Securities เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ว่าถือเป็นปีที่ยากสำหรับภาคธุรกิจการลงทุน เป็นผลจากบรรยากาศการลงทุนที่ถูกกดดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะข่าวของหลักทรัพย์บางตัวที่ส่งผลกระทบต่อ Sentimental ของตลาด อย่างไรก็ดี บริษัทยังสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้จำนวน 296.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามปริมาณการซื้อขายที่ซบเซาเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2565 โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ปิดที่ 1,503.10 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงมากถึง 33% อย่างไรก็ดี บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจนายหน้า เช่น รายได้ดอกเบี้ยรับและเงินปันผลรวม 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 88.4 ล้านบาท
สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 บริษัทยังมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้า การพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับความผันผวนของตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างรายได้ให้มีความแข็งแกร่งรองรับการชะลอตัวของปริมาณการซื้อขายที่ซบเซา ทั้งนี้ บริษัทยังมุ่งพัฒนาการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบกับ Mobile Banking Application “LHB You” ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อขยายฐานลูกค้ารายย่อย อีกทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ลูกค้าได้รับความสะดวก และรวดเร็ว รวมทั้ง บริษัทให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนการดำเนินธุรกิจอย่างมีสำนึกและมีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี
นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าวถึงภาพการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันในประเทศไทยขณะนี้ยังมีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพียงแต่เม็ดเงินที่จะเข้ามาอาจจะชะลอลงไปบ้างเนื่องจากสภาวะทางการเมืองของประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอน เชื่อว่าหากการเมืองไทยมีความแน่นอนขึ้นจัดตั้งรัฐบาลได้และได้ตัวนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ การลงทุนของต่างชาติในไทยจะดีขึ้นและเม็ดเงินลงทุนจะทยอยไหลเข้ามาลงทุน
เช่นเดียวกับ นางสาวชมภูนุช กล่าวเสริมว่า คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะกลับมาดีขึ้น หลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และจะส่งผลให้แผนการดำเนินงานที่ LH Bank ตั้งไว้จะทำได้ตามเป้าหมาย
โดยครึ่งปีหลังนี้ LH Bank จะขยายฐานลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย และ SME ที่จะบุกทางด้านสินเชื่อบุคคล ด้วยกระบวนการ Digital Lending สมัครสินเชื่อผ่าน Mobile banking เพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ในการบริการสินเชื่อที่สะดวกรวดเร็ว โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และคาดสิ้นปี 2566 น่าจะปิดยอดสินเชื่อบุคคลได้ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังคงบุกสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ถือเป็นจุดแข็งของธนาคาร รวมถึงจะเน้นสินเชื่อสีเขียว ESG เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากลูกค้ารายใหญ่ ที่จะเน้นทางด้าน Trade Finance และ Global Markets เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ข่าวเด่น