ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายและอวัยวะภายในก็เริ่มเสื่อมถอย โรคและอาการต่าง ๆ ที่ไม่เคยเป็นตอนยังหนุ่มยังสาว ก็เริ่มปรากฏขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้ชายหลาย ๆ คนแล้ว “ต่อมลูกหมาก” อวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ ก็มีการเสื่อมสภาพลงเช่นกัน ด้วยอายุที่มากขึ้น ต่อมลูกหมากอาจมีการขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่อาการผิดปกติในระบบปัสสาวะ เช่น การปัสสาวะไม่ออกหรือกลั้นไม่ได้ โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้ในผู้ชายสูงอายุมากกว่าครึ่ง! วันนี้ นพ.วิชญะ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินปัสสาวะ ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ รพ.วิมุต ชวนมาทำความรู้จักภัยร้ายของชายวัยเก๋าอย่าง "โรคต่อมลูกหมากโต" พร้อมชวนส่องอาการ และแนะแนวทางการรักษา ก่อนเกิดอาการแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายได้
รู้จัก "โรคต่อมลูกหมากโต" แพทย์ชี้ ผู้ชายอายุเกิน 60 เสี่ยงเกินครึ่ง!
ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia) เป็นภาวะที่ส่งผลต่อผู้ชายสูงอายุเป็นหลัก แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่แน่ชัด แต่ภาวะที่ต่อมขยายใหญ่ขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้นอย่างชัดเจน ต่อมลูกหมากมีขนาดประมาณลูกวอลนัทอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีท่อปัสสาวะไหลผ่านตรงกลาง "การขยายตัวของต่อมลูกหมากจะเริ่มพบในผู้ชายที่อายุประมาณ 50-55 ปี ส่วนชายวัย 60 ขึ้นไป จะพบอาการที่เข้าข่ายมากกว่าครึ่ง และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 70 ปี ผู้ชายมากถึง 80% จะมีอาการเข้าข่าย ซึ่งการหมั่นสังเกตอาการนั้นสำคัญมากสำหรับการรักษาที่ทันท่วงที" นพ.วิชญะ ปริพัฒนานนท์ อธิบาย
"ต่อมลูกหมากโต" โรคที่บั่นทอนการใช้ชีวิต แพทย์เผยอย่านิ่งนอนใจหากปัสสาวะผิดปกติ
“การขยายตัวของต่อมลูกหมากส่งผลให้การปัสสาวะผิดปกติ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ (Voiding Symptom) เช่น ปัสสาวะไม่พุ่ง ติดขัด ไม่สุด ไม่ออก หรือต้องเบ่งเยอะ ส่วนกลุ่มที่ 2. คือกลุ่มการเก็บกักปัสสาวะผิดปกติ (Storage Symptom) เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดแล้วต้องปัสสาวะทันที หรือปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ” นพ. วิชญะ ปริพัฒนานนท์ กล่าว แม้ว่าโรคต่อมลูกหมากโตอาจไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็บั่นทอนคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก และหากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไตเสื่อมจากความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงเกินไป เป็นต้น ซึ่งการรักษาอาจซับซ้อน ยืดเยื้อและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ในที่สุด
“ต่อมลูกหมากโต” เป็นแล้วหายไหม
ปัจจุบัน การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตแบ่งออกเป็นสองวิธี คือการใช้ยาและการผ่าตัด โดยเบื้องต้นแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการ ตัวยาเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมาก (Alpha-blockers) ออกฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมากและคอกระเพาะปัสสาวะให้ผ่อนคลาย ช่วยให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงอย่าง อาการวิงเวียนศีรษะและหน้ามืดในตัวยารุ่นเก่า ส่วนตัวยารุ่นใหม่ ๆ จะออกฤทธิ์ได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งช่วยลดอาการวิงเวียน แต่ข้อควรระวัง คือ อาจทำให้น้ำอสุจิออกมาน้อยลงได้ ส่วนยากลุ่มที่สองคือ กลุ่มลดขนาดต่อมลูกหมาก (5ARI: 5alpha Reductase Inhibitor) ที่ช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากลงประมาณ 30% ด้วยการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชายในต่อมลูกหมาก ยาจะออกฤทธิ์เต็มที่ในเวลา 6 เดือน และจะทำให้ค่าแอนติเจนที่จำเพาะต่อต่อมลูกหมาก (PSA) ลดลง 50% ตัวยาจะมีผลข้างเคียง อาจลดอารมณ์ทางเพศได้ ยากลุ่มนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีขนาดต่อมลูกหมากโตมากกว่า 30 มล. เพราะอาจไม่ได้ผลดีในผู้ที่มีต่อมลูกหมากที่โตไม่มากนัก
นพ.วิชญะ ปริพัฒนานนท์ กล่าวถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดว่า "หากใช้ยาแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำ ปัสสาวะไม่ออกต้องใช้สายสวน หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ซึ่งวิธีการผ่าตัดที่พบบ่อยและให้ผลลัพธ์ที่ดี คือการส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ เพราะแผลผ่าตัดเล็กและใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยเป็นการเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกบางส่วน ช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะลำบากได้ถึง 10-15 ปีโดยไม่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตอีกหลายวิธี ทั้งการใช้เลเซอร์ (HoLEP -Holmium Laser Enucleation of Prostate) ไอน้ำ (Rezum) และไฟฟ้า (TURP -Transurethral Resection of Prostate) โดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากไม่ได้กำจัดต่อมออกไปทั้งหมด แต่เป็นการผ่าออกบางส่วนเพื่อให้ปัสสาวะได้คล่อง แต่ยังรักษาสมรรถภาพทางเพศและการกลั้นปัสสาวะให้ยังดีเหมือนเดิม”
“ผู้ชายหลายๆ คนไม่ทราบว่า ต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับชายสูงวัยเกือบทุกคน ยิ่งถ้าเข้าเลข 7 แล้วพบอาการนี้ได้ถึง 80% ด้วยกัน หากมีอาการตามที่กล่าวไว้ ควรเข้ามาพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตตัวเองและรับการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที ด้วยอายุที่มากขึ้น การเสื่อมถอยของร่างกายเป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับและเข้าใจ แต่เราสามารถรู้เท่าทันความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมปรึกษาแพทย์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลร่างกายและรักษาสุขภาพให้อยู่กับเราไปนาน ๆ ได้” นพ. วิชญะ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจพบแพทย์เพื่อรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ศัลยกรรม (ระบบทางเดินปัสสาวะ) ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน หรือโทรศัพท์นัดหมาย 02-079-0040 เวลา 08.00 – 20.00 น.
ข่าวเด่น