หุ้นทอง
SCB CIO มองเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มชะลอลงคาดเฟดคงดอกเบี้ย 5.50% แนะจับจังหวะลงทุนหุ้นจีน A-share และไทยมูลค่ายังถูก


SCB CIO ชี้เงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง เฟดส่งสัญญาณชัดขึ้นมีโอกาสหยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะลอลง คาดเฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.50% ในช่วงที่เหลือของปี ส่วนธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 4% และ 6% ด้านเศรษฐกิจจีนฟื้นช้ากว่าคาด มีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นในครึ่งปีหลัง แนะถือหุ้นสหรัฐแต่ทยอยขายหุ้นกลุ่ม Tech สับเปลี่ยนเข้าหุ้น Defensive และทยอยขายหุ้นยุโรปหลังอัตราเงินเฟ้อยืดเยื้อ และดอกเบี้ยยังขึ้นต่อ ส่วนหุ้นที่มี Valuation ถูกได้แก่หุ้นจีน A-share และหุ้นไทย  
 
 
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว (disinflation) เริ่มปรากฎในหลายประเทศ โดยเงินเฟ้อในกลุ่ม Developed markets ชะลอลงช้ากว่ากลุ่ม Emerging markets เนื่องจากยังมีเงินเฟ้อจากภาคบริการที่อยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในหลายประเทศทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะในไตรมาสที่ 2  โดยในเดือน ก.ค.ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3% จากระดับสูงสุด 9.1% และไทยอยู่ที่ 0.2% จากระดับสูงสุด 7.9%  อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ยังชะลอลงช้าและอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเงินเฟ้อในภาคบริการยังอยู่ในระดับสูงตามความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวของภาคธุรกิจนี้ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค.ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.8% จากระดับสูงสุด 6.6% และไทยอยู่ที่ 1.3% จากระดับสูงสุด 3.2 % 
 
 
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จบรอบการขึ้นดอกเบี้ย แต่จะคงดอกเบี้ยไว้ระดับสูงในช่วงที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอ แต่มีโอกาสหลีกเลี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อชะลอลงมาแต่ในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าที่ 2% ในช่วงปี 2023-24 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะแต่ด้วยตลาดแรงงานและกำลังซื้อที่แข็งแกร่งทำให้โอกาสที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้มีค่อนข้างสูง จากแนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับ 5.5% ในช่วงที่เหลือของปี และมีโอกาสน้อยมากที่จะลดดอกเบี้ยในปี 2023 และจากแนวโน้มเงินเฟ้อและดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เช่นกัน ยกเว้น ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 4% และ 5.75% ตามลำดับ 
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ SCB CIO ในช่วงที่เฟดมีการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง  3 ครั้งล่าสุด ในปี 1995, 2000-01, และ 2006-07 ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลา 5, 8, และ 15 เดือนตามลำดับ พบข้อสังเกตสำคัญดังนี้ 1) ในช่วง 6 เดือนหลังจากเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีปรับลดลงอย่างมีนัยยะ (49-119 bsp.) 2) US dollar index ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น (ยกเว้น 2001 ที่เกิด dot com crisis และ 3) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ใน 6 เดือนหลังหยุดขึ้นดอกเบี้ย ยกเว้นช่วงปี 2001 ที่เกิด dot com crisis
 
 
อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของ Bond yield ในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยชั่วคราว คาดจะเริ่มลดลงหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และสัญญาณที่ชัดของการหยุดขึ้นดอกเบี้ยจากเฟด เรามองว่ายังคงเป็นโอกาสดีที่จะสะสมพันธบัตรเข้าพอร์ต เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย หรือชะลอตัว เราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของเฟด ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า แม้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจะลดลง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไป 
ทางด้านเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาดในไตรมาสที่ 2/2023 ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี สะท้อนจากท่าทีล่าสุดของการประชุม Politburo ปัจจัยเสี่ยงที่เริ่มสูงขึ้นคือหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่ครบกำหนดชำระค่อนข้างมากในช่วง ส.ค.-ก.ย. แม้มีปัจจัยฐานต่ำ แต่เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2023 เติบโตได้เพียง 6.3%YOY  จากภาคบริการด้านภัตรคารและโรงแรม และภาคอสังหาริมทรัพย์  ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 5.4% การฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้มีแรงกดดันต่อภาครัฐมากขึ้นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงินและการคลังแบบเฉพาะเจาะจง ปัจจัยความเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี นอกจากการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจแล้วยังมีประเด็นหนี้รัฐบาลทั้งถิ่นที่จะครบกำหนดในเดือน ส.ค.-ก.ย. ที่มียอดรวมกว่า 24% ของยอดทั้งหมดของปี  2023 ที่มีแนวโน้มทำให้ภาครัฐน่าจะขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐให้เข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรเหล่านี้  
 
 
สำหรับValuation ของตลาดหุ้น Developed Markets ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี และส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก P/E rerating ยกเว้นตลาดหุ้นยุโรป (SXXP) ที่ยังถูกกดดันจากปัจจัยเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยที่มีโอกาสยืดเยื้อมากกว่ากลุ่มประเทศอื่น SCB CIO ยังคงคำแนะนำ Neutral หุ้นสหรัฐฯ (ทยอยขายหุ้นกลุ่ม Tech สับเปลี่ยนเข้าหุ้น defensive) และ Slightly Negative หุ้นยุโรปจากผลของเงินเฟ้อยืดเยื้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังขึ้นต่อ สำหรับตลาดหุ้นที่ Valuation ยังถูกมักมีปัจจัยความเสี่ยงกดดัน เช่น ตลาดหุ้นจีน ไทย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เรายังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share  จากแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง  สำหรับหุ้นจีน H-share เราได้มีการปรับมุมมองเป็น Neutral จากความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร (18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ค. 2566 เวลา : 14:12:52
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 3:34 pm