รศ. พิเศษ ภก. กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และ นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงพิธีลงนามความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรม
รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า นับตั้งแต่วิกฤตการระบาดของโควิด 19 เภสัชกรได้มีบทบาทในการช่วยเหลือระบบสาธารณสุขต่าง ๆ ตั้งแต่การแจกชุด ATK การมีส่วนร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการที่ได้รู้จักและใช้งานในระบบ A-MED Care และได้มีการพัฒนาต่อมาเพื่อใช้ใน โครงการเจอ แจก จบ หรือ โครงการ Self-isolation ที่ร้านยา (เป็นหน่วยร่วมบริการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้ให้บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 (กลุ่มสีเขียว) ที่บ้าน โดยใช้ระบบ A-MED Care ในการบันทึกอาการ จ่ายยา และติดตามอาการไปจนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าบริการ นับเป็นบริการแรกที่ประชาชนจำนวนมากได้รู้จักและชื่นชมในบทบาทของเภสัชกร มีผู้ป่วยได้รับการดูแลจากเภสัชกรชุมชนใน โครงการเจอ แจก จบ นี้ร่วม 6 หมื่นคน จาก 700 ร้านยาที่ร่วมโครงการ
ในปีงบประมาณ 2566 ทางสภาเภสัชกรรมจึงเสนอบริการ 16 อาการเล็กน้อยมารับยาที่ร้านยา โดยเภสัชกรจะแนะนำการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น และหลังจากรับยาไป 3 วัน จะติดตามผลการใช้ยาว่าผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่อย่างไร โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการนี้ สร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนนับเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของการให้บริการโดยเภสัชกรชุมชน ประชาชนสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ของร้านยาที่ให้บริการ ที่เขียนว่า “ร้านยาคุณภาพของฉัน ”
“ระบบ A-MED Care พัฒนาโดย สวทช. เป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากจะมีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice / GPP) ของกระทรวงสาธารณสุขแล้วจะต้องผ่านเกณฑ์การรับรอง “ ร้านยาคุณภาพ” และผ่านการอบรมหลักสูตร “การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ”ตามที่สภาเภสัชกรรมกำหนดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐาน ประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานตามที่สภาเภสัชกรรมกำหนด และมีการจ่ายยาอย่างถูกต้องสมเหตุผล
นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ระบบ A-MED Care Pharma ช่วยให้การให้บริการของเภสัชกรในโครงการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย มีความเสถียรและมีแอดมินคอยช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดเวลา ผนวกกับการดูแลจ่ายยา ให้คำแนะนำ ติดตาม หรือส่งต่อพบแพทย์ ตรงตามความต้องการของประชาชน จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยมารับบริการมีจำนวนถึง 2 แสนคน มารับบริการที่ร้าน 3 แสนกว่าครั้ง (ข้อมูล ณ. วันที่ 26 กรกฎาคม 2566) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งผู้รับบริการและร้านยาที่เข้ามาร่วมโครงการ
“ก้าวต่อไปในปี 2567 คือ การพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma ในบริการจ่ายยาเพื่อลดความแออัด หรือ ระบบ e-prescription รูปแบบที่เรียกว่า โมเดล 3 เพื่อให้ร้านยาได้ใช้งานระบบเดียว ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้ง ระบบการบันทึก การรายงาน และการส่งเบิกจ่าย เป็นระบบเดียวในร้านยาซึ่งจะทำให้ร้านยาไม่ต้องใช้หลายระบบในการทำงานบันทึกการให้บริการ ซึ่งเป็นความท้าทายของวิชาชีพเภสัชกรในการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมบริการต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมโยง ประมวลผล และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มีภารกิจและเป้าหมายหลักมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ สวทช. ได้ตระหนักอย่างยิ่งถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข ที่มาประยุกต์ใช้ในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด19 ซึ่งเกิดขึ้นในไทยเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 จนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพและจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยที่โควิด 19 ได้เพิ่มอัตราเร่งในการนำเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข มาใช้ในการดูแลประชาชนและผู้ป่วยเพื่อลดการเดินทางและลดความแออัดมายังสถานบริการสุขภาพแต่ยังคงดูแลประชาชนและผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ A-MED Care Pharma พัฒนาโดย สวทช. เพื่อเป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ซึ่งร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านมาตรฐานหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเต็มที่ โดย สวทช. พร้อมที่ให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร ภายใต้กรอบพันธกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
“ทั้งนี้ สวทช.ได้รับความไว้วางใจจากเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายกสภาเภสัชกรรม ในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้ เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อน การให้บริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย ให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยขยายผลการใช้งานในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างทั่วถึง” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรรมเป็นวิชาชีพสุขภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีบทบาทหน้าที่ในการปรุงยาและใช้ยาเพื่อบริบาลผู้ป่วย และด้วยศักยภาพของวิชาชีพเภสัชกรรมที่เข้าถึงทุกชุมชนในรูปแบบร้านยา จึงได้ร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ปัจจุบันมีจำนวนกว่าหนึ่งพันแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว ล่าสุดยังได้เพิ่มนวัตกรรมบริการ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (common illnesses) โดยร้านยาคุณภาพของฉัน เพื่อให้คำปรึกษาสุขภาพ จ่ายยาตามอาการ และติดตามอาการผู้ป่วย โดยได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาชนผู้ใช้สิทธิ
ดังนั้น เพื่อให้บริการร้านยาชุมชนอบอุ่นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma เพื่อรองรับ จึงนำมาสู่ความร่วมมือครั้งนี้ โดยการสนับสนุนจากสภาเภสัชกรรมและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีความร่วมมือที่ดีกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาโดยตลอด และจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางและการดำเนินงานทุก ๆ ด้านของการให้บริการเภสัชกรรม เกิดนวัตกรรมบริการเภสัชกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนงานเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป
สำหรับ ระบบบริการด้านเภสัชกรรมและนวัตกรรมบริการด้านการสาธารณสุขผ่านร้านยาคุณภาพของฉันด้วยระบบ A-MED Care Pharma เริ่มดำเนินการให้บริการประชาชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ เช่น ปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ผื่นคัน และบาดแผล หากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยตาม 16 กลุ่มอาการที่กล่าวมา สามารถเข้ารับบริการได้ที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาในโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือสายด่วน สปสช. 1330 หรือสังเกตสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ที่หน้าร้านยา โดยเภสัชกรจะซักถามอาการและจ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาและการปฏิบัติตัว รวมถึงติดตามอาการเมื่อครบ 3 วัน ทั้งนี้ หากพบว่าคนไข้มีอาการไม่ดีขึ้น ร้านยาจะส่งต่อคนไข้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลต่อไป
ข่าวเด่น